อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

รู้จัก “ราชพฤกษ์” ดอกไม้ประจำสงกรานต์ ความเชื่อ-ประวัติ สัญลักษณ์แห่งความสุข

เปิดเรื่องราว ‘ดอกราชพฤกษ์’ (ดอกคูน) บานสะพรั่งช่วงสงกรานต์ 2568 สัญลักษณ์มงคลแห่งปีใหม่ไทย เติมความสดใสให้การเดินทางและการเฉลิมฉลอง พร้อมความหมายอันเป็นมงคลในฐานะ ‘ดอกไม้ประจำชาติ’

เมื่อสายลมเริ่มพัดเอากลิ่นอายของฤดูร้อนสู่ประเทศไทย นั่นคือสัญญาณว่าเทศกาลที่ทุกคนรอคอยอย่าง “สงกรานต์” หรือ เทศกาลปีใหม่ไทย 2568 กำลังจะมาเยือน และในขณะเดียวกันนั้น การผลิบานสะพรั่งของ “ดอกราชพฤกษ์” (Cassia fistula) หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ “ดอกคูน” และ “ดอกลมแล้ง” ในภาษาถิ่นล้านนา ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าฤดูร้อนได้วนเวียนมาอีกครั้งเช่นกัน

หากใครเดินทางไปตามท้องถนน หรือสังเกตตามบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือแม้แต่วัดวาอาราม ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ก็จะได้เห็นภาพความสวยงามของต้นราชพฤกษ์ที่ผลิดอกสีเหลืองสดใสออกเป็นช่อระย้า ซึ่งความงามของราชพฤกษ์ไม่เพียงแต่สร้างความสดชื่นสบายตา แต่ยังแฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้งด้วย

ความงาม ที่มา และความเป็นมงคลของ “ดอกราชพฤกษ์”

‘ราชพฤกษ์’ เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา ไปจนถึงพม่า นอกจากจะเป็นดอกไม้ประจำชาติไทยแล้ว ยังเป็นดอกไม้ประจำรัฐเกรละของประเทศอินเดียด้วย และการที่ราชพฤกษ์ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยงาม แต่ยังมาจากความหมายอันเป็นมงคลต่าง ๆ

  • สีเหลือง เป็นสีแห่งพระพุทธศาสนา สีแห่งความรุ่งเรือง โชติช่วงชัชวาล ดุจดังทองคำอันล้ำค่า สื่อถึงความเป็นสิริมงคล ความเจริญก้าวหน้า และความศรัทธา’
  • ชื่อ “ราชพฤกษ์” แปลตรงตัวว่า “ต้นไม้ของพระราชา” สะท้อนถึงความเป็นไม้มงคลนาม มีเกียรติ และสง่างาม
  • ความสามัคคี การที่ดอกราชพฤกษ์บานสะพรั่งพร้อมกันทั้งต้นและทั่วประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน ยังสื่อถึงความรัก ความสามัคคี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
  • ความศักดิ์สิทธิ์ในทางไสยศาสตร์ คนไทยในอดีตเชื่อว่าราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักนำใบไปใช้ประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย

ทำไม “ราชพฤกษ์” ถือเป็นดอกไม้แห่งสงกรานต์

ความผูกพันระหว่างดอกราชพฤกษ์กับเทศกาลสงกรานต์นั้น มีที่มาที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้

ช่วงเวลาที่ลงตัว

ราชพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นที่จะผลิดอกสีเหลืองสดใสพร้อมกันในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี และจะบานสะพรั่งอวดโฉมอยู่ราว ๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี ก่อนจะค่อย ๆ ร่วงโรยไปในช่วงปลายเดือนเมษายน จังหวะเวลาอันเหมาะเจาะนี้เองที่ทำให้ราชพฤกษ์กลายเป็นภาพจำคู่กับเทศกาลปีใหม่ไทย

ตำนานและความเชื่อโบราณ

ในอดีต ชาวมอญมีประเพณีนำดอกราชพฤกษ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นดอกไม้จากสวรรค์ มาใช้ประดับในพิธีบวงสรวง เพื่อต้อนรับเหล่าเทวดาที่เชื่อว่าจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลา 7 วัน โดยจะเริ่มต้นก่อนวันสงกรานต์ ความเชื่อมโยงกับความเชื่อและพิธีกรรมรับปีใหม่นี้ ยิ่งทำให้ราชพฤกษ์มีความผูกพันกับสงกรานต์อย่างลึกซึ้ง

สัญลักษณ์และการให้เกียรติ

ด้วยความงามและช่วงเวลาที่ผลิบาน ประกอบกับความเชื่ออันเป็นมงคล ทำให้คนไทยยกย่องและตั้งให้ ‘ดอกราชพฤกษ์’ เป็นดอกไม้ประจำเทศกาลสงกรานต์ และนิยมนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยที่สวยงาม เพื่อใช้เป็นสื่อกลางแทนความรัก ความเคารพ นำไปกราบไหว้รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในช่วงเทศกาล

แม้ว่าในเทศกาลสงกรานต์จะมีการใช้ดอกไม้มงคลอื่น ๆ เช่น ดอกมะลิ ดอกจำปี มาร้อยมาลัยเพื่อมอบให้ผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน แต่ ดอกราชพฤกษ์ ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นและผูกพันกับเทศกาลนี้ สีเหลืองทองอร่ามที่บานสะพรั่งไปทั่ว เปรียบเสมือนคำอวยพรให้ปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงนี้ ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความสดใส ความเจริญรุ่งเรือง และเป็นนิมิตหมายอันดีงามของการเริ่มต้นใหม่

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 นี้ หากผู้อ่านทุกท่านได้มีโอกาสเดินทาง หรือแม้แต่ออกไปใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้ลองมองหาความงดงามของช่อราชพฤกษ์ที่กำลังเบ่งบาน และระลึกถึงความหมายอันเป็นมงคลเพื่อเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ไทย

สุดท้ายนี้ ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ ขอให้เทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความอบอุ่น และการเริ่มต้นใหม่ที่สดใส ดุจดังสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ที่กำลังเบ่งบานในช่วงเทศกาลนี้ สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button