ข่าวต่างประเทศ

งานวิจัยเผย “ขั้วโลกเหนือ” อาจขยับจากจุดเดิม ภายในสิ้นศตวรรษนี้

งานวิจัยใหม่เผย ขั้วโลกเหนือ อาจเคลื่อนที่ ขยับออกจากตำแหน่งเดิมเกือบ 30 เมตร ภายในศตวรรษนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการละลายของน้ำแข็ง

งานวิจัยใหม่นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า การละลายของน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ตำแหน่งของขั้วโลกเหนือ เคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ขั้วโลกเหนือ ที่กำลังพูดถึงอย่างอยู่นี้ หมายถึงขั้วโลกในเชิงภูมิศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวกับขั้วโลกเหนือแม่เหล็ก และเมื่อแผ่นน้ำแข็งละลายและมวลของมหาสมุทรถูกกระจายไปทั่ว ขั้วโลกเหนือของโลกอาจเคลื่อนที่ได้เกือบ 30 เมตร ภายในปี 2100 เนื่องจากแกนหมุน (Axis) ของโลกเปลี่ยนไป โดยทีมวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลต่อระบบการนำทางด้วยดาวเทียม

หลักการของเรื่องนี้คือ โดยปกติแล้ว เมื่อโลกหมุน การเปลี่ยนแปลงในการกระจายมวลของโลกจะทำให้แกนโลกโคลงเคลงเหมือนกับลูกข่าง ซึ่งการโคลงเคลงเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและคาดเดาได้ บางส่วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามปกติของความดันบรรยากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทร ในขณะที่บางส่วนเกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแกนโลกกับชั้นเนื้อโลก (Mantle)

แต่จากการศึกษาล่าสุดนี้ ทำให้เห็นว่า การละลายของแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง อาจส่งผลต่อการกระจายมวลและทำให้ขั้วโลกเคลื่อนตัวได้

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งซูริก อ้างอิงข้อมูลการเคลื่อนตัวของขั้วโลกตั้งแต่ปี 1900-2018 และคาดการณ์การละลายของแผ่นน้ำแข็ง เพื่อทำนายว่าขั้วโลกจะเคลื่อนตัวไปไกลแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่แตกต่างกัน

ก่อนที่จะพบว่า ภายใต้สถานการณ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เลวร้ายที่สุด ขั้วโลกเหนืออาจเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกมากกว่า 27 เมตร ภายในปี 2100 ขณะที่ภายใต้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มองโลกในแง่ดีมากขึ้น ขั้วโลกเหนือก็ยังเคลื่อนตัวได้มากถึง 12 เมตร เมื่อเทียบกับตำแหน่งขั้วโลกเหนือเมื่อปี 1900

ทางด้าน มุสตาฟา เคียนี ชาห์วานดี นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โลกจากมหาวิทยาลัยเวียนนา หนึ่งในทีมนักวิจัย ได้กล่าวว่า “ผลกระทบนี้ค่อนข้างเหนื่อกว่าผลกระทบจากการปรับสมดุลของธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการดีดตัวกลับของเปลือกโลก หลังจากยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลง”

การดีดกลับนี้เกิดจากการที่พื้นผิวเปลือกโลกจะจมลงจากน้ำหนักของธารน้ำแข็งในยุคน้ำแข็ง แต่เมื่อธารน้ำแข็งละลาย ส่งผลให้ดินลอยตัวมากขึ้น ทำให้การกระจายน้ำหนักในเปลือกโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้ขั้วโลกเคลื่อนตัว

ชาห์วานดี ยังบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของแกนหมุนของโลกนี้ อาจส่งผลต่อการนำทางของดาวเทียมและยานอวกาศ เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้ทำแผนที่ตำแหน่งของยานอวกาศโดยใช้แกนหนุมของโลกเป็นข้อมูลอ้างอิงบางส่วน หากแกนดังกล่าวเคลื่อนที่ไป การระบุตำแหน่งที่แน่นอนของยานอวกาศก็อาจทำได้ยากขึ้น

อ้างอิง : www.livescience.com

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Bas

ผู้สื่อข่าวกีฬา จบการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีประสบการณ์เขียนข่าวกีฬากับ SMMSport กว่า 10 ปี เริ่มทำงานกับ Thaiger เมื่อ 2021 ชอบและติดตามกีฬามาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะฟุตบอลทั้งบอลไทย และต่างประเทศ 5 ลีกดังของโลก พร้อมอัปเดตข่าวสารวงการฟุตบอล แบบเข้าใจง่าย ให้เพื่อนๆและแฟนบอลได้ติดตามกันทุกวัน ช่องทางติดต่อ saral@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button