ข่าวต่างประเทศ

ออสเตรเลีย ฆ่าล้างบาง แมวจรจัด สาเหตุทำสัตว์พื้นถิ่นตาย 1.5 พันล้านตัวต่อปี

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ส่งทีมนักแม่นปืนลงพื้นที่ยิงควบคุมแมวจรจัดมากกว่า 400 ตัว ภายในปีที่ผ่านมา เพื่อปกป้องสัตว์ป่าพื้นถิ่นที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก มีรายงานว่า แมวหนึ่งตัวสามารถฆ่าสัตว์ท้องถิ่นได้ถึง 700 ตัวต่อปี ในภาพรวม แมวจรจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ออสเตรเลียมากถึง 1.5 พันล้านตัวในแต่ละปี

หน่วยควบคุมแมวป่าของกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ใช้กล้องตรวจจับความร้อนกับกล้องวงจรปิดนับร้อยตัวในการตรวจหาพื้นที่ที่มีประชากรแมวจรจัดสูง โดยสามารถกำจัดได้ถึง 62 ตัวในช่วงต้นปี 2025 เพียง 4 วันในอุทยานแห่งชาติโทราลเพียงแห่งเดียวก็สามารถยิงได้ถึง 42 ตัว

ดาร์เรน พิตต์ ผู้อำนวยการสาขาภาคตะวันตกของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า การกำจัดแมวจรจัด 400 ตัว หมายถึงการช่วยชีวิตสัตว์พื้นถิ่นได้ถึง 280,000 ตัว

แคทเธอรีน โมสบี นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ เปิดเผยว่า ผลตรวจดีเอ็นเอจากสัตว์พื้นถิ่นที่นำกลับมาปล่อยในธรรมชาติ พบว่า แมวพวกนี้เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตหลัก และแม้บางตัวจะไม่ถูกกิน ก็พบร่องรอยว่าแมวเป็นผู้ลงมือ

“สัตว์บางตัวดูเหมือนตายธรรมชาติ แต่เมื่อเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ พบว่าถูกแมวฆ่าและทิ้งไว้โดยไม่กิน” โมสบีกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญยอมรับ ‘ยิง’ ยังเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด

อาเล็ด ฮ็อกเกตต์ ผู้จัดการภาคตะวันออกเฉียงใต้จากองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าออสเตรเลีย (AWC) กล่าวว่า แมวป่าเป็นสัตว์ระแวงมนุษย์สูง ไม่ตอบสนองต่อเหยื่อล่อหรือกับดักทั่วไป จึงทำให้การยิงเป็นวิธีเดียวที่ยังใช้ได้ผล

แม้ยอมรับว่าไม่สามารถกำจัดแมวจรจัดให้หมดไปจากภูมิประเทศได้ แต่การลดจำนวนเฉพาะพื้นที่ เช่น เขตหวงห้ามหรือถิ่นอาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างนกเกรตกราสเรน ก็สามารถช่วยให้สัตว์ท้องถิ่นมีโอกาสรอดและฟื้นตัวได้

อย่างไรก็ตาม ฮ็อกเกตต์แนะนำว่า วิธีที่ป้องกันได้ดีที่สุดคือ “ล้อมรั้ว” เพื่อไม่ให้แมวและสุนัขจิ้งจอกเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น ที่พักพิงของแบนนดิคูทพันธุ์เฉพาะถิ่นในเขต Shark Bay ซึ่งรอดชีวิตอยู่ได้เพราะปลอดแมวป่า

นอกจากปัญหาด้านระบบนิเวศแล้ว แมวจรจัดยังเป็นพาหะของโรค “ท็อกโซพลาสโมซิส” ที่แพร่ผ่านมูลและปัสสาวะ และสามารถแพร่สู่สัตว์เลี้ยงและมนุษย์

บาร์บารา ลินลีย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงแกะเมอริโนในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เล่าว่า เคยมีปีหนึ่งที่ฟาร์มเกิดภาวะแท้งมากผิดปกติ ก่อนจะพบว่าเป็นเพราะโรคจากแมวจรจัด ซึ่งส่งผลให้แม่แกะตายไปถึง 10% ของฝูง หรือประมาณ 200 ตัว ซึ่งเป็นการสูญเสียรายได้มหาศาลที่กินเวลานานถึง 5 ปี

แม้ว่ามาตรการยิงควบคุมแมวจรจัดจะไม่ใช่ทางออกแบบเบ็ดเสร็จ แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่า หากไม่มีมาตรการใด ๆ เลย สถานการณ์จะเลวร้ายลงกว่านี้มาก เพราะในหลายพื้นที่ แมวไม่เพียงเป็นภัยต่อสัตว์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังทำลายอาชีพของเกษตรกรและวิถีชีวิตของชุมชนอีกด้วย.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button