ข่าว

ย้อนรอย ที่ประชุม สก. เคยตัดงบจ้างที่ปรึกษาแผ่นดินไหว กทม. เหตุไม่จำเป็น

ย้อนอดีต ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ตีตก โครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินแรงต้านแผ่นดินไหวมูลค่า 9 ล้านบาท ให้เหตุผลว่าไม่เร่งด่วน-เหมาะสม

จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 มาตราริกเตอร์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา จนทำให้โครงสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง พังถล่มลงมาทั้งหมด สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินหลักพันล้านบาท จึงเกิดกระแสชาวเน็ตวิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ใส่ใจกับมาตรการป้องกัน-ลดเหตุความรุนแรงเหตุแผ่นดินไหวในประเทศหรือไม่

เดอะไทยเกอร์จึงขอย้อนเวลากลับไปในการประชุมงบประมาณ สภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอ “แผนงานอาคารและการก่อสร้าง ผลผลิตควบคุมอาคารและการก่อสร้าง งบรายจ่ายอื่น ค่าจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัดกรุงเทพมหานคร” มูลค่าโครงการ 9 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) อนุมัติงบประมาณ แต่ได้สุดท้ายก็ถูกตัดการอนุมัติออกไป เนื่องจากสิ้นเปลืองงบฯ

ตอนนั้น นส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สก.บางซื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ได้สงวนคำแปรญัตติ ว่า แม้โครงการจะระบุว่าเป็นจ้างที่ปรึกษาประเมินแรงต้านแผ่นดินไหวฯ และงบจ้างที่ปรึกษายังอาจนำมาสู่การทุจริตได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ กทม. ไม่มีความเชี่ยวชาญ (เรื่องแผ่นดินไหว) ก็ถือว่ายังจำเป็นอยู่ดี

อีกทั้งไส้ในของโครงการยังมีการซื้ออุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถไปใช้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารของ กทม. ได้ทันท่วงที

ภาพจาก Thai PBS

นอกจากนี้ “ภัทราภรณ์” ยังยกตัวอย่างเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 19 ม.ย. 66 ที่แรงสั่นสะเทือนแรงจนสามารถสัมผัสได้ขณะอยู่บนตึกสูง กทม. เกิดความตื่นตระหนกของพี่น้องประชาชนและความเสียทางธุรกิจเนื่องจากต้องรอการตรวจสอบโครงสร้างอาคารจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด

รวมถึงหยิบกฎกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2550 ก่อนออกฉบับใหม่ในปี 2564 ว่าด้วยการกำหนด-ออกแบบอาคารให้สามารถรองรับและต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว โดยมีสาระสำคัญคือ อาคารที่ก่อสร้างหลังปี 50 จะต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้

ทว่าข้อมูลจากปี 66 กลับระบุว่ามีอาคารใน กทม. ที่ถูกออกแบบตามเกณฑ์บังคับเพียง 3,028 อาคารเท่านั้น ขณะที่อาคารเก่าที่ถูกสร้างมาแบบไม่รองรับแผ่นดินไหวนั้นมีมากถึง 10,386 อาคาร ดังนั้นการจ้างที่ปรึกษาข้างต้นให้มาช่วยประเมิน-ติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนจึงถือว่ามีความจำเป็นและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ พร้อมย้ำว่านี่ไม่ใช่งบผูกพัน เป็นการใช้งบฯ เพียงปีเดียว 9 ล้านบาทเท่านั้น

สรุปประโยชน์จากโครงการประเมินกำลังต้านทางแรงแผ่นดินไหว

  • มีระบบแจ้งเตือนผลกระทบต่ออาคารทันที กรุงเทพมหานครสามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เพื่อลดความตื่นตระหนกสับสนในเวลาวิกฤต
  • ลงทุนต่ำ ได้ผลคุ้มค่าระยะยาว
  • สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย-บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
  • กรุงเทพมหานครจะเป็นที่แรกในประเทศไทยที่มีการวัดผลต้านทานแผ่นดินไหวในตึกสูงเก่าก่อนกฎกระทรวงปี 2550 และเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ในอนาคต
ภาพจาก Thai PBS

ต่อมา นายเอกกวิน โชคประสบรวย สก.ราชเทวี ปชน. ลุกขึ้นกล่าวสนับสนุน “ภัทราภรณ์” ว่า งบ 9 ล้านบาทไม่ใช่แค่ค่าที่ปรึกษา แต่ยังได้อุปกรณ์มาติดตั้งอาคารเป็นการถาวร ซึ่งเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน แถมเป็นจุดเริ่มจุดเริ่มต้นรัฐสวัสดิการด้านความปลอดภัยอีกด้วย

ภาพจาก Thai PBS

ขณะที่ กนกนุช กลิ่นสังข์ สก.ดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้กล่าวสรุปเหตุผลที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบตัดงบดังกล่าวทั้งหมด ว่า หากเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคเหนือหรือตะวันออก เช่น เชียงราย หรือกาญจนบุรี ที่อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนแผ่นดินไหวนั้น สภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหว

อีกทั้งการลงทุนในโครงการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็น เทียบเท่ากับการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เช่น ปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ขณะนั้น

“ความคุ้มค่าของโครงการ มูลค่า 9 ล้านบาท สำหรับการประเมินอาคารสูงเป็นการใช้จ่ายงบฯ ที่ไม่สมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณในโครงการอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำหรือการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ทรัพยากรมีจำกัด” กนกนุช กล่าว

นอกจากนี้ในแง่ความชัดเจนของการดำเนินโครงการ เช่น วัตถุประสงค์ ผลการดำเนินการ และผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะได้จากการจ้างที่ปรึกษาการดำเนินโครงการ ก็ไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าผลลัพธ์จากการประเมินนี้ จะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงหรือป้องกันในรูปแบบใดหรือสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างไร

ภาพจาก Thai PBS

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Thai PBS

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button