ไข้หวัดใหญ่ ตัวเลขระบาดพุ่ง สธ.เผยดับแล้ว 9 จัดวัคซีนป้องกัน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่มพ.ค.นี้

กรมควบคุมโรคห่วง ไข้หวัดใหญ่ปี 68 ระบาด พบผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 คน กลุ่มเด็กเล็กป่วยสูงสุด เร่งเฝ้าระวังการระบาดในสถานที่แออัด จัดวัคซีนป้องกัน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่ม พ.ค.นี้
วานนี้ (18 ก.พ.) กรมควบคุมโรค นำโดยแพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ จัดแถลงข่าวภายใต้หัวข้อกุมภาพันธ์ รู้ทันโรค รู้ทันภัย ป้องกันได้ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โรคระบาด 6 ประเภทที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมให้คำแนะนำด้านการป้องกันและการดูแลสุขภาพในช่วงที่โรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยโรคที่ต้องจับตามองคือ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราป่วยสะสมมากที่สุด จัดวัคซีนป้องกัน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่ม พ.ค.นี้
สถิติ “โรคไข้หวัดใหญ่” แพร่ระบาดปี 68
จากรายงานล่าสุด (18 กุมภาพันธ์ 2568) พบว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมในปี 2568 แล้ว 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย ข้อมูลบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2567 โดยกลุ่มอายุที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กอายุ 5 – 9 ปี ไวรัสสายพันธุ์ที่พบมาก ได้แก่ A/H1N1(2009) รองลงมาคือสายพันธุ์ B และ A/H3N2 ทั้งนี้ พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนเป็นหลัก
ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วย 3,124 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี และ 0 – 4 ปี แม้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่จากแนวโน้มการแพร่เชื้อ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการรวมตัวของประชาชน เช่น โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม ค่ายทหาร และเรือนจำ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
กลุ่มเสี่ยงและแนวทางป้องกัน
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยเน้นการป้องกัน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ ได้แก่
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
3.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
6.โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยสนับสนุนโดยกรมควบคุมโรค จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน
การแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านทางอากาศจากละอองฝอยน้ำมูก น้ำลายของผู้ติดเชื้อ รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ ดังนั้น การคัดกรองอาการผู้เข้าออกจากสถานที่สาธารณะ และการป้องกันระหว่างทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น แยกภาชนะส่วนตัว หรือเว้นระยะห่างทางสังคม จึงเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมโรค
เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ กรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัย เช่น การล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วย และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
การใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ยังคงเป็นทางเลือกในการรักษาเพื่อช่วยลดอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม การป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดในปีนี้
ย้อนดูสถิติปี 2567 อัตราการป่วยและการเสียชีวิต
เมื่อย้อนดูข้อมูลของปี 2567 พบว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมถึง 663,173 ราย เสียชีวิต 51 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จำนวน 45 ราย สายพันธุ์ B จำนวน 3 ราย และไม่ระบุสายพันธุ์ 3 ราย สถานการณ์ในปีนั้นชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสถานที่ปิด เช่น โรงเรียน เรือนจำ และค่ายทหารผลการเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดใหญ่ในปี 2567 จากกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการปอดบวม พบว่าจากตัวอย่าง 9,552 ราย มีผลตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 973 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.27 โดยแบ่งเป็น A/H1N1(2009) ร้อยละ 50.46, A/H3N2 ร้อยละ 26.11 และชนิด B ร้อยละ 23.43
ภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคกลาง (1,307.61 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ และระยอง



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ปี 2568 เช็กราคา-พิกัดฉีด ข้อควรรู้
- ไข้หวัดใหญ่ระบาดญี่ปุ่น ต้นเหตุคร่า ‘ต้าเอส’ ป่วยพุ่ง 3.1 แสนคน เป็นประวัติการณ์
- หมอเจด คนไทยเที่ยวญี่ปุ่น ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ยอดทะลุ 9.5 ล้าน
อ้างอิง: กรมควบคุมโรค 1–2 , กองระบาดวิทยา, hfocus