ข่าว

ประวัติ พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ท่ามกลางพายุ เขากระโดง

เกร็ดประวัติ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบัน กำลังกลายเป็นบุคคลที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด จากกรณีข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงที่สั่นสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

สำหรับประวัติของ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบัน ข้าราชการมากประสบการณ์ ผ่านตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมไปถึงการรับมือกับกระแสข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงที่สั่นสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล แต่กว่าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญเช่นทุกวันนี้ เส้นทางชีวิต และการทำงานของท่านเป็นมาอย่างไร ไปติดตามกันเลยครับ

Advertisements

เส้นทางชีวิตราชการ “พรพจน์ เพ็ญพาส” อธิบดีกรมที่ดิน คนล่าสุด

นายพรพจน์ เพ็ญพาส (Mr.Pornpoth Penpas) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมที่ดิน สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าราชการผู้มีประสบการณ์โชกโชน ผ่านตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกระทรวงมหาดไทยมามากมาย

พรพจน์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะคว้าปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ จาก Northrop University สหรัฐอเมริกา และต่อยอดความรู้ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ด้วยความสามารถและผลงานอันโดดเด่น ทำให้เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

เส้นทางชีวิตราชการของพรพจน์เริ่มต้นจาก “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” หรือ ปภ. โดยไต่เต้าจากหัวหน้าสำนักงาน ปภ. จังหวัด จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองอธิบดี ก่อนจะผันตัวไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และกลับเข้าสู่กระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

นอกจากนี้ พรพจน์ยังเป็นผู้ใฝ่รู้ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เข้ารับการอบรมในหลักสูตรสำคัญ ๆ มากมาย อาทิ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 57 และนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 46 หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 11 หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รุ่นที่ 24 และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารเมือง (ผู้นำเมือง รุ่นที่ 1) มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

กรมที่ดิน ประกาศชี้แจงเรื่องเขากระโดง
อ้างอิง : กรมที่ดิน Fanpage

เขากระโดง มหากาพย์ข้อพิพาทที่ดินร้อยปี

ท่ามกลางประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน พรพจน์ กลับต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งสำคัญ ในฐานะอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อเขาตัดสินใจ ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ที่ออกทับที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่าง รฟท. และเอกชน การตัดสินใจครั้งนี้ กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย นำไปสู่ความตึงเครียดในพรรคร่วมรัฐบาล

Advertisements

แม้ พรพจน์ จะยืนยันว่า การตัดสินใจดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมาย และคำสั่งศาล แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จากนครราชสีมาสู่อุบลราชธานี ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของข้อพิพาทที่ดินที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

แม้กรมที่ดินจะพยายามปิดฉากคดีความดังกล่าว แต่เสียงคัดค้านจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ดังก้องขึ้นอีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า “แม้แต่ตารางวาเดียวของที่ดิน รฟท. ก็ไม่อาจสูญเสียไปได้”

ความเคลื่อนไหวล่าสุด รฟท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง โต้แย้งการดำเนินการของอธิบดีกรมที่ดินที่ไม่เป็นไปตามคำพิพากษา พร้อมทั้งยื่นหนังสือคัดค้านตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ก่อนครบกำหนด 15 วัน

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเกี่ยวข้องของที่ดินบางส่วนกับตระกูลชิดชอบ นายสุริยะเลือกที่จะยืนหยัดให้เรื่องนี้ดำเนินไปตามกระบวนการกฎหมาย โดยย้ำว่า รฟท. จะต้องรักษาสิทธิ์ของตนไว้ พร้อมเดินหน้าหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินกว่า 900 แปลง

มหากาพย์เขากระโดงจึงยังคงดำเนินต่อไป เป็นบทพิสูจน์ความซับซ้อนของข้อพิพาทที่ดินในประเทศไทย ที่แม้เวลาจะผ่านไปกว่าศตวรรษ แต่การหาข้อยุติที่เป็นธรรมกลับยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความละเอียดรอบคอบในการดำเนินการ

วนอุทยานเขากระโดง ข้อพิพาทที่ดินทับซ้อน

คำพิพากษาศาลฎีกากับความซับซ้อนคดีเขากระโดง

ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องที่ดินเขากระโดง พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมในการพิจารณาคดี โดยเน้นย้ำถึงอำนาจสูงสุดของคำพิพากษาศาลฎีกาในระบบกฎหมายไทย

คำวินิจฉัยของศาลฎีกาถือเป็นที่สุด รัฐมนตรียุติธรรมกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมชี้ให้เห็นว่าคดีนี้ไม่เพียงผ่านการพิจารณาจากศาลฎีกาเท่านั้น แต่ยังได้รับการวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งต่างลงความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นที่ดินกว่า 5,083 ไร่ ที่ศาลฎีการะบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่กระบวนการตามมาตรา 61 ยังไม่จบสิ้น ทำให้กระทรวงคมนาคมยังคงมีสิทธิในการโต้แย้ง ทั้งนี้ รัฐมนตรียุติธรรมได้เลือกที่จะระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น ด้วยความห่วงใยต่อบรรยากาศการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล

ประเด็นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของนายสุริยะ พล.ต.อ.ทวีกล่าว พลางแสดงความเข้าใจต่อความห่วงใยของประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งทางการเมือง โดยย้ำว่าทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเดียวกัน

คดีเขากระโดงจึงสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบกฎหมายไทย ที่แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่กระบวนการทางกฎหมายในบางมาตรายังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความพยายามของทุกฝ่ายในการรักษาสมดุลระหว่างการปฏิบัติตามกฎหมายและการรักษาความสัมพันธ์ทางการเมือง

สรุปคือ กรมที่ดินไม่ยอมเพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงที่ออกโดยมิชอบ รฟท. ไม่ยอม เลยยื่นอุทธรณ์ให้กรมที่ดินกลับไปทบทวนใหม่ เพราะที่ดินนั้นเป็นของ รฟท.

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทางกรมที่ดิน ได้ออกหนังสือชี้แจง ที่ดินเขากระโดง ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ถูกต้องตาม ม.61 แห่ง ป.ที่ดิน ยันไม่ขัดแย้งคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ แจ้งการรถไฟฯ เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง นั้น กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่

๕๘๒/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการ

ให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน (นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมาย) ได้มีคำสั่งที่ ๑๑๙๕ – ๑๑๙๖/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว โดยที่ ศาลปกครองกลางมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์บริเวณเขากระโดงแต่อย่างใด

2. ประเด็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

การตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา ๖๑ วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ หมวด ๑ การตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการสอบสวน ข้อ ๒ ซึ่งประกอบด้วย

(๑) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด สาขาหรือข้าราชการสังกัดกรมที่ดินที่อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจจราชการกรมที่ดินเห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ

(๒) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอซึ่งที่ดินตั้งอยู่ เป็นกรรมการ

(๓) ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ เป็นกรรมการ

(๔) ผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ

(๕) ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไปหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด สาขา เป็นกรรมการและเลขานุการ

ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนจึงเป็นการตั้งตามตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

3. ประเด็นการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน

คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ หมวด ๑ การตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการสอบสวน ข้อ ๓ และ ข้อ ๔ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้

ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีการนัดสอบสวน การนัดพิจารณาหรือการอย่างอื่นพร้อมทั้งต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเป็นหนังสือด้วย และมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ยึดถือมาประการพิจารณาพร้อมทั้งแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน

เมื่อดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย โดยจะต้องสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายว่าสมควรสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไรอีกทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมตามนัยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการ จดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๗

4. ประเด็นที่กรมที่ดินพิจารณายุติเรื่อง

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ หมวด ๓ การสั่งเพิกถอนหรือแก้ไข ข้อ ๑๒ ได้บัญญัติเงื่อนไขของการที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีบดีมอบหมายจะพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ต่อเมื่อปรากฏชัดแจ้งว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ โดยผู้ฟ้องคดี

นำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐ และ ที่ ๘๐๒๗/๒๕๖๑ จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น

เพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง ๘ กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ ๖๘๑/๒๕๖๖ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗, พ.ศ. ๒๕๑๑, พ.ศ. ๒๕๒๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๗ ปรากฏว่าทางรถไฟมีระยะทางประมาณ ๖.๒ กิโลเมตร และ ได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L ๗๐๘ ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรก

ในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๕๐๐) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ ๖.๒ กิโลเมตร เช่นกัน โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวคือ จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอดมีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากันและมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ ๖ ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริง จุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ ๘ จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก และความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ ๙๑/๒๕๖๗ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ สันนิษฐานได้ว่าการกำหนดเขตสร้างทางรถไฟจะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน ๔๐ เมตร หรือ ๒๐ วา

สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลางตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า

เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ยกเว้นในบริเวณที่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า มีการเข้าใช้ประโยชน์โดยมีการสร้างทางรถไฟซึ่งจะต้องไม่เกินข้างละ ๒๐ วา หรือ ๔๐ เมตร โดยการรถไฟฯ จะต้องเป็นผู้นำพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์

5. ประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนและกรมที่ดินขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาฎีกาและศาลอุทธรณ์หรือไม่

ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ เป็นกรณีพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ซึ่งกรมที่ดินไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นคู่ความต่อสู้ในคดี และนำเสนอพยานหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีไปแสดงต่อศาลได้ สำหรับรูปแผนที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) อ้างสิทธิ นั้น จากการตรวจสอบพบว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และปีพ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินไปแล้ว

โดยการรถไฟฯ ได้นำแผนที่นี้ไปใช้ประกอบการต่อสู้ในคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งแผนที่นี้ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ แต่อย่างใด ประกอบกับการดำเนินการคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดิน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติไว้ จึงเห็นว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาของศาลแต่ประการใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : กรมที่ดิน, กรมที่ดิน Fanpage, ข่าวประชาสัมพันธ์ กรมที่ดิน

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button