ข่าว

สั่งปิดเขื่อนขุนด่านปราการชล ทำน้ำท่วม นายกฯ มั่นใจไม่ซ้ำรอยปี 54

สั่งปิดเขื่อนขุนด่านปราการชล หลังระบายน้ำ ทำน้ำท่วมทะลักรีสอร์ต นายกมั่นใจไม่ซ้ำรอยปี 54 เผยฝนตกมาท้ายเขื่อน ต้นเหตุน้ำท่วม

จากกรณีเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู เมืองนครนายก ได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจากศูนย์กู้ชีพ ได้รับแจ้งเหตุให้กู้ชีพทุกหน่วยที่มีเรือเตรียมพร้อม หากมีเหตุขอความช่วยเหลือจากการมีประชาชนหรือนักท่องเที่ยวติดอยู่ภายในบ้าน หลังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน รีสอร์ตต้องอพยพนั่งท่องเที่ยว จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ประสานนำเรือท้องแบนและระดมอาสากู้ภัยไปยังพื้นที่ตำบลหินตั้ง โดยจุดนัดพบคือ สวนลุงเล็ก ซึ่งพบว่ามีน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เป็นวงกว้าง และเริ่มลดระดับลงตามลำดับ

โดยเจ้าหน้าที่รีสอร์ตที่ได้รับผลกระทบเล่าว่า มวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่นั้นถูกระบายมาจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่ปล่อยน้ำจากประตูระบายน้ำด้านล่าง โดยไม่มีการแจ้งเตือนตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ

รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากอธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้ ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4%

ขณะที่นายกฯ กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ

อธิบดีกรมชลประทาน รายงานถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค.ในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกฯ กำชับนายอนุทินว่า อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโก-ลก จ.นราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย พบว่าจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขินและระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่นๆประมาณเดือน พ.ย.

โดยนายเศรษฐา สั่งเน้นย้ำว่า ให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้า จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมาเพราะทางมาเลเซียเดือดร้อนเนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้

จากนั้นนายกฯ เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ พร้อมมอบนโยบายว่า ปัญหาเรื่องน้ำ เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งตนตั้งใจจะแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพราะส่งผลต่อความเสียหายอย่างหาค่ามิได้ต่อประชาชนทุกคน

ตนได้มอบให้กระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องน้ำบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำแผนงานและโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี และพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ขอเน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิมให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ก่อนพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ และระบบการกระจายน้ำเพิ่มเติม เพื่อการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปได้อย่างเหมาะสม

โดยในช่วงฤดูฝนนี้ ตนมอบให้กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุมถึงแผน 3 ปี ในด้านทรัพยากรน้ำ โดยมอบหมายให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้เสร็จ เพื่อเสนอต่อครม. ภายในเดือนส.ค.นี้ ให้ สทนช. รับผิดชอบติดตามและประเมินผล การดำเนินงานตามแผน และรายงานให้ครม.ทราบเป็นระยะ ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

ส่วนการการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ นายกฯ มอบให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด

ส่วนบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ให้ สทนช.บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยกำหนดขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ชัดเจน และขอเน้นย้ำให้บริหารสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึง และทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ภายหลังการประชุม นายกฯ แถลงว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ และได้มอบให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ”

ตนได้เน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ

ที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่

โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ประกอบด้วยการเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ

ตนและรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยได้สั่งการให้ สทนช. เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อครม. เพื่อพิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้ และตนได้มอบให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยให้ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจกับการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54 ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มั่นใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button