ข่าว

อาจารย์แม่โจ้ เสนอใช้ ‘ไซยาไนด์’ ปราบปลาหมอคางดำ พลีชีพปลาไทย

รศ.ดร.อภินันท์ อาจารย์แม่โจ้ เสนอใช้ ไซยาไนด์ ปราบปลาหมอคางดำ หากสถานการณ์เกินเยียวยา ย้ำเป็นมาตรการสุดท้าย แต่อาจจะพลีชีพปลาไทยด้วย

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แสดงความเห็นถึงกรณีปลาหมอคางดำระบาดว่า มาตรการที่นำมาใช้กำจัด ไม่ว่าจะเป็นการส่งนากและปลานักล่าไปจัดการ จับมาทำเมนูอาหาร แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือ ทำน้ำหมักชีวภาพ อาจไม่ทันการณ์ เนื่องจากปลาหมอคางดำเกิดง่ายตายยาก และ ยังอึดทนปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเน่า ทำให้แพร่พันธุ์ได้เร็วเหมือนกองทัพปีศาจที่คืบคลานแบบไม่มีที่สิ้นสุด

การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ หากยังควบคุมไม่ได้โดยเร็ว มีความเสี่ยงที่ปลาหมอคางดำ จะยึดเต็มพื้นที่แม่น้ำและแหล่งน้ำทั่วทั้งประเทศไทย ทั้งจากการเคลื่อนย้ายจากคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การแจกลูกพันธ์ปลาที่อาจจะมีลูกปลาหมอคางดำติดไปด้วย หากไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร มีโอกาสที่จะเกิดการขยายพันธ์แบบแบบข้ามกระโดดไปบยังภูมิภาคอื่นทั้งภาคอีสานภาคเหนือ

ที่น่าห่วงคือการแพร่พันธ์ตามธรรมชาติโดยการเคลื่อนตัวจากภาคใต้ขึ้นไปพื้นที่ตอนบนของประเทศ จากพื้นที่ปากแม่น้ำขึ้นไปแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะพื้นที่ริมตลิงที่น้ำไหลไม่แรง พวกมันจะค่อย ๆ ขยับคืบคลานขึ้นไป หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้เชื่อว่าอีกไม่นานจะขยายขึ้นไปชัยนาทและนครสวรรค์อย่างแน่นอน

รศ.ดร.อภินันท์ เสนอว่า หากสถานการณ์เกินเยียวยา การใช้ไซยาไนด์อาจเป็นมาตรการสุดท้ายที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำ วิธีนี้อาจดูโหดร้ายแต่เด็ดขาดและสามารถทำได้จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เช่น ต้องเป็นพื้นที่ที่ระบาดหนัก มีการบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขควบคุมเฉพาะ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม วิธีนี้อาจต้องยอมแลกกับปลาไทยที่จะตายไปพร้อมกัน แต่ไม่น่าห่วงเพราะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ไม่ยาก

ส่วนข้อกังวลในเรื่องของสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ อาจารย์อภินันท์ บอกว่า ไม่น่าห่วงเพราะโครงสร้างทางเคมีของไซยาไนด์เป็นประจุลบและ พบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้วและจะไม่มีการตกค้าง เพียงแต่จะต้องมีการศึกษาเรื่องปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่แหล่งน้ำที่จะดำเนินการและระยะเวลาปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปฟื้นฟูปลาไทยครั้งใหม่ นี่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและทรัพยากรแหล่งน้ำได้อย่างเห็นผล

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่ป้องกันการรุกรานของปลาหมอคางดำได้ คือการทำให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ ทำให้ปลาไทยเจ้าถิ่นมีอยู่เต็มพื้นที่ทุกลุ่มน้ำ เมื่อแหล่งน้ำสมบูรณ์จะทำให้มีปลานักล่าเต็มพื้นที่ จะทำให้ปลาหมอคางดำไม่สามารถเข้าไปยึดพื้นที่ได้ โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทำโครงการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหารและการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยส่งเสริมการสร้างโรงเพาะฟักในแต่ละท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำยม ให้ประชาชนได้เพาะเลี้ยงสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับปลาของแต่ละท้องถิ่น เมื่อปลาไทยเจ้าถิ่นมีจำนวนมากพอก็เป็นเหมือนด่านหน้าที่จะป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ปลาต่างถิ่นรุกล้ำเข้ามาจนเกิดปัญหาเหมือนเช่นปลาหมอคางดำในตอนนี้

โดยโครงการเพาะปลาท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำยมจะเป็นโครงการต้นแบบที่จะขยายผลไปยังทุกลุ่มน้ำในประเทศไทยในอนาคต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button