ชายอายุ 43 โรครุมเร้า ไม่ดื่ม-ไม่สูบ เพิ่งรู้ ป่วยวัณโรคปอด เบาหวาน ไร้สัญญาณเตือน
‘นพ.มนูญ’ เผยเคสผู้ป่วย ชายวัย 43 ปี ไม่ดื่ม-ไม่สูบบุหรี่ ตรวจพบเบาหวาน ต่อด้วยวัณโรคปอด ชนิดไม่มีอาการ ก่อนหน้านี้ไร้สัญญาณเตือนโรคร้าย หมอคาด รับเชื้อมาตั้งแต่เด็ก
วัณโรค ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย อ้างอิงจากรายงานองค์การอนามัยโลก พบว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยวัณโรค (รายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ) จำนวนทิ้งสิ้น 111,000 ราย มีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13,700 ราย ทั้งยังมีอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคต่ำกว่าเป้าหมายกำหนดอีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยก็มีทั้งบุคคลที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการ โดยการป่วยรูปแบบนี้นับว่าอันตรายไม่น้อย เพราะจะไม่ทางรู้ตัวจนกว่าจะตรวจพบโรค
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โพสต์ข้อความลงบนเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เล่าถึงเคสคนไข้ที่เพิ่งทราบว่ามีโรครุมเร้า หลังป่วยโควิด ผลเอกซเรย์ปอดมีรอยโรคผิดปกติ สืบทราบภายหลังพบว่าเป็นวัณโรคป่วย ชนิดไม่มีอาการ แต่ปกติไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ หมอคาดได้รับเชื้อมาจากพ่อ ตั้งแต่ยังเด็ก
“ผู้ป่วยชายอายุ 43 ปี เพิ่งทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ติดโควิดครั้งแรกวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ อาการโรคโควิดไม่มาก หลังจากหายแล้ว ตรวจพบไซนัสอักเสบ และเอกซเรย์ปอดพบปอดมีจุดหลายจุดในปอดด้านซ้ายกลีบบน
ผู้ป่วยไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด มีประวัติพ่อเคยป่วยเป็นวัณโรค ได้ยาปฏิชีวนะ ไซนัสอักเสบดีขึ้น แต่เอกซเรย์ปอดไม่ดีขึ้น ที่ รพ.อื่นได้ส่งเสมหะย้อมไม่พบเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยขอมาปรึกษาวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เรื่องหายจากโควิด กินยาปฏิชีวนะแล้ว แต่เอกซเรย์ปอดยังไม่ดีขึ้น ตรวจร่างกายปกติ ไม่มีไข้ ฟังปอดปกติ
เอกซเรย์ปอดมีรอยโรคผิดปกติแบบ reticulo-nodular ที่ปอดด้านซ้ายกลีบบนเข้าได้กับวัณโรค (ดูรูป) เนื่องจากคนไข้ไม่ไอ เก็บเสมหะไม่ได้ จึงได้ทำการส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม (Bronchoscopy) ไม่พบอะไรผิดปกติในหลอดลม เอาน้ำล้างหลอดลมส่งตรวจ ย้อมเชื้อไม่พบวัณโรค ส่งเพาะเชื้อวัณโรคซึ่งต้องรอผล 4 สัปดาห์ ตรวจรหัสพันธุกรรมของวัณโรค PCR-TB ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ผลออกมาเป็นบวก
ผู้ป่วยรายนี้เป็นวัณโรคปอดชนิดไม่มีอาการ ตรวจพบเป็นวัณโรคปอดหลังหายป่วยจากโรคโควิด คงรับเชื้อวัณโรคจากพ่อสมัยเป็นเด็ก วัณโรคเพิ่งมาแสดงออกเมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน เริ่มให้ยารักษาวัณโรคทันที”
ทั้งนี้ “วัณโรค” เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้โดยการไอ จาม ถ่มน้ำลาย และเสมหะ หากท่านใดอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อได้ด้วยการไม่นอนร่วมกัน สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นตรวจเช็กสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันในสถานที่แออัด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เคสอุทาหรณ์ หญิงร่างกายแข็งแรง ป่วยเชื้อราเข้าปอด แพทย์ชี้ ‘ขี้นก’ เป็นเหตุ
- หมอแล็บ เตือน เผลอกินเห็ดพิษ พลาดนิดเดียว อาจถึงตายได้
- หมอประชาเตือน ตัวการ ‘มะเร็งตับ’ อยู่ในครัวไทย ใส่ทุกอาหาร หากเผลอไม่ระวัง