WDT แจ้งความ สาวราดน้ำร้อนใส่ไซบีเรียน เตรียมชงศาลสั่งสิ้นศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์
มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ ร่วมมือกับเพจ SOS Animal Thailand และพยาน เข้าแจ้งความเอาผิดสาวใจทราม กรณีทารุณสัตว์ “ราดน้ำร้อนใส่ไซบีเรียนท้อง” เตรียมยกมาตรา 33 ชงศาลสั่งสิ้นศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์
ความคืบหน้ากรณี สาวใจทราม ผูกหมาไว้ในห้องน้ำ ก่อนราดน้ำเดือดทั้งกระติกใส่ตัวหมาไซบีเรียนท้อง ชื่อ “หมวยเล็ก” เบื้องต้นหญิงรายนี้ได้เคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้ว โดยออกมายอมรับว่ากระทำเกิดไป อ้างขาดสติและกดดัน น้อมรับทุกคำด่า พร้อมก้มหน้ารับชะตากรรมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
ล่าสุด 5 มิ.ย. 67 มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จากเพจ SOS Animal Thailand พร้อมด้วยเจ้าของใหม่ที่รับเลี้ยง “น้องหมวยเล็ก” และพยาน เข้าแจ้งความเอาผิดสาวราดน้ำร้อนใส่ไซบีเรียน ที่ สภ.บางพลี โดยมี พ.ต.อ.ไพโรจน์ เพ็ชรพลอย ผกก.สภ.บางพลี เป็นผู้รับเรื่อง
ทางเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation – WDT ได้อัปเดตภาพระหว่างการเข้าแจ้งความ พร้อมระบุแคปชั่นประกอบว่า
“มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ เข้าร่วมแจ้งความ หญิงเอาน้ำร้อนราดน้องหมาไซเรียบร้อยแล้ว ที่ สภ.บางพลี
WDT ขอบคุณ พ.ต.อ.ไพโรจน์ เพ็ชรพลอย ผกก.สภ.บางพลี ต้อนรับทีมงานพร้อมดำเนินการรับแจ้งความเรียบร้อย และดำเนินการประสานเรียกหญิงเจ้าของหมามารับทราบข้อกล่าวหาตามหลักฐานคลิปวิดีโอ ถ้าไม่ยอมมาก็ต้องออกหมายเรียก
หมายเรียกไม่มา ก็จะเป็นหมายจับ !
พร้อมขอให้ประกอบมาตรา 33 ขอให้ศาลสั่งให้สิ้นศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ พร้อมส่งมอบหมาไซและสัตว์เลี้ยงที่เหลือทั้งหมด ให้อยู่ในการดูแลของมูลนิธิต่อไป
มารอดูกันครับว่าศาลจะไว้ใจให้ผู้หญิงคนนี้เลี้ยงหมาต่อไปหรือไม่ !”
จากความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในกรณีไซบีเรียนถูกเจ้าของใจร้ายนำน้ำร้อนมาราดตัวจนขนและหนังหลุดลอกนั้น จะเห็นได้ว่า WDT ได้มีการเตรียมที่จะยื่นขอศาลให้ออกคำสั่งขั้นเด็ดขาดในมาตรา 33 กับสาวรายนี้ฐานทารุณกรรมสัตว์ ทีมงาน Thaiger จึงได้รวบรวมความรู้บางส่วนเกี่ยวกับกฎหมายการทารุณกรรมสัตว์มาชี้แจงให้ได้ทราบกัน ดังนี้
โทษของกฎหมายการทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร
มาตรา 31 จำคุกไม่เกิน 2 ปรับไม่เกิด 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นตามมาตรา 21 ระบุว่า
1. การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
2. การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจําหน่ายเนื้อสัตว์
3. การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
4. การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บ และไม่สามารถเยียวยาหรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
5. การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
6. การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกาย ของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
7. การกระทําใดๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพ โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้ กระทําได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ การสัตวแพทย์ จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์
8. การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือการดํารงชีวิตของสัตว์
9. การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น
10. การกระทําอื่นใดที่มีกฎหมายกําหนดให้สามารถกระทําได้เป็นการเฉพาะ
11. การกระทําอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่แยกออกไปในหมวดของ “หน้าที่เจ้าของสัตว์” ประกอบด้วย
- มาตรา 22
เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
- มาตรา 23
ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนำสัตว์ไปดูแลแทน
- มาตรา 24
การขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในงานแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
**หากฝ่าฝืนมาตรา 23 และ/หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 และ 24 มีโทษตามมาตรา 32 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
มาตรา 33 จะถูกนำขึ้นมากล่าวอ้างและใช้กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับสัตว์ก็ต่อเมื่อ เจ้าของสัตว์มีความผิดและศาลพิพากษาลงโทษตามมาตรา 31 หรือมาตรา 32 แล้วเห็นว่า การจะให้สัตว์นั้น ยังอยู่ในครอบครองของเจ้าของหรือของผู้กระทำความผิดนั้นต่อไป สัตว์นั้นอาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพที่ไม่เหมาะสมอีก
ในกรณีนี้ศาลอาจจะมีคำสั่งให้
1. ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้กระทำผิดนั้น ครอบครองสัตว์ดังกล่าว
2. มอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้นต่อไปได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หญิงใจทราม ‘ราดน้ำร้อน’ หมาไซบีเรียนท้อง จนหนังหลุด คาดประชดผัว ชาวเน็ตรุมสาปไม่หยุด
- เจ้าของอ้าง ‘ขาดสติ’ ราดน้ำร้อนใส่ไซบีเรียน ไม่รู้มาก่อนว่าหมาท้อง
- ใจร้าย หมาถูกวางยาเบื่อ ตายไป 13 ตัว ไซบีเรียนนอนเฝ้าลูกเมียไม่ห่าง
อ้างอิงจาก : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเลย