ประวัติ “แฟรงค์ ณัฐนนท์” นักกิจกรรม สู่ผู้ต้องหาคดี 116
ประวัติ “แฟรงค์ ณัฐนนท์” เส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จากการ์ดมวลชนอาสา กลับกลายเป็นผู้ต้องคดีอาญา 116 แสดงความคิดเห็นที่นำไปสู่การยุยง-ปลุกปั่นฝูงชน
“แฟรงค์ ณัฐนนท์” คือใคร
แฟรงค์ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร คือนักกิจกรรม วัย 22 ปี เกิดที่ จังหวัดนนทบุรี จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นทั้งพี่ชาย และเสาหลักของครอบครัวที่ต้องทำงานหาเลี้ยงน้องทั้ง 4 คน เขาเริ่มทำงานหาเลี้ยงครอบครัวโดยเป็นพนักงานของบริษัทโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่ง และด้วยใจที่รักในประชาธิปไตยและความยุติธรรม ทำให้เขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางนักกิจกรรมทางการเมือง
ด้วยความรู้ความสามารถด้านงานช่างไฟฟ้าจากวิทยาลัยเทคนิค แฟรงค์ได้เข้าร่วมเป็นการ์ดมวลชนอาสา WeVo คอยดูแลเครื่องเสียงและรถโมบาย (รถเปิดท้ายขยายสัญญาณโทรศัพท์) ให้กับกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เขาปฎิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทและเสียสละ จนกลายเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมอุดมการณ์
ทว่า เส้นทางชีวิตของ แฟรงค์ยังต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อ ยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ต่อไป
เปิดไทม์ไลน์เส้นทางผู้ต้องหาคดี 116
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 แฟรงค์ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีร่วมชิงตัว “เพนกวิน” และ “ไมค์” ต้องเผชิญกับเรื่องราวสุดพลิกผัน จากคนที่ถูกรถผู้ต้องขังชนและถูกลากไปกับพื้นจนได้รับบาดเจ็บ ภายหลังแฟรงค์เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ แต่กลับกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง เพราะถูกแจ้งข้อหากลับรวมแล้วกว่า 7 ข้อหา
แม้จะพยายามสู้คดีแล้ว แต่แฟรงค์ก็ไม่รอดพ้นข้อกล่าวหาจากการถูกฝากขังนานกว่า 84 วัน นอกจากนี้ยังถูกแยกขังเดี่ยวเนื่องจากใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จนต้องตัดสินใจอดอาหารประท้วงนานถึง 25 วันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 หลังการสรุปคดีความ พบว่า เหตุการณ์เริ่มมาจากแฟรงค์ และตะวัน ทานตะวัน ตุวตุลานนท์ ขับรถส่วนตัวออกไปทำธุระด้วยกัน โดยมีแฟรงค์เป็นผู้ขับขี่รถยนต์บนทางร่วมเข้าต่างระดับมักกะสัน มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในขณะนั้นเองได้มีขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสั่งหยุดรถบนถนนหยุดชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของขบวนเสด็จ
แฟรงค์ ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ พยายามจะขับรถแทรกระหว่างรถที่ชะลออยู่ เพื่อขับรถยนต์ขึ้นไปด้านหน้า เมื่อตำรวจเห็นดังนั้นจึงสั่งให้หยุดรถ แต่แฟรงค์กลับบีบแตรเสียงดังนาน 1 นาที เมื่อขบวนเสด็จผ่านไป ตำรวจจราจรเห็นว่าแฟรงค์ออกรถไปด้วยความเร็วสูง จนเข้าประชิดท้ายขบวนเสด็จ จึงคาดว่าอาจเกิดอันตรายได้ จึงสั่งให้หยุดรถ แล้วทั้งคู่ก็ถูกนำมาฝากขังที่ศาลอาญา และกลายเป็นผู้ต้องโทษคดีอาญา 116 เหตุบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ
ล่าสุด วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) ศาลอาญา มีคำสั่งให้ประกันตัว แฟรงค์ ในคดีมาตรา 116 เหตุบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ โดยให้วางมัดจำหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ แฟรงค์ อยู่ในชั้นสอบสวนเป็นเวลานาน จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นเหตุให้ถูกฟ้องอีก
รู้จักคดีอาญามาตรา 116 แสดงความเห็นปลุกปั่น-ยุยง
เคยสงสัยไหมว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีกับการยุยงปลุกปั่น คดีอาญามาตรา 116 คือบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องนี้
มาตรา 116 ระบุชัดเจนว่าการกระทำใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือแม้แต่การแสดงออกในรูปแบบอื่น หากมีเจตนาเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขู่ หรือสร้างความวุ่นวายในสังคมจนนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย หรือยุยงให้ประชาชนฝ่าฝืนกฎหมาย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรานี้ และมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี
แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็มีขอบเขตจำกัด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ หากการแสดงออกนั้นมีเจตนาที่ไม่สุจริตและอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม ก็อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116 ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง