ข่าว

ครูแนะแนวสุดทน พ่อแม่ยัดเยียดความฝันตัวเองให้ลูก ต้องเรียนหมอเท่านั้น จนลูกเครียดมาก

วันที่ 12 พ.ค. 2567 ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นถึงการยัดเยียดความฝันของตัวเองให้ลูก ทั้งๆที่เด็กก็มีความฝันของตัวเองเช่นเดียวกัน จึงวิงวอนผู้ปกครองด้วยน้ำตาให้เปิดใจรับฟังเด็กบ้างโดยระบุไว้ว่า

“ประชุมผู้ปกครองโรงเรียนกำเนิดวิทย์ #KVIS ปีนี้น้ำตาท่วม เมื่อครูแนะแนวเปิดอกบอกเล่าความรู้สึก ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองฟังลูกหลานบ้าง อย่าเอาความฝันส่วนตัวยัดเยียดให้เด็ก”

“ครูแนะแนวบอกว่า เด็ก #KVIS จริงๆจะเรียนอะไร คณะวิชาอะไร มหาวิทยาลัยในไทยหรือต่างประเทศก็ไม่น่ามีปัญหามาก แต่ทุกข์ของเด็กเก่งๆเหล่านี้คือ บางครอบครัวเรียกร้อง คาดหวังให้ลูกต้องเรียน “หมอ”เท่านั้น !”

“ครูบอก ถ้าเด็ก #กำเนิดวิทย์ อยากเรียนหมอ หรือไปทางสายสุขภาพด้วยตัวเอง ครูและโรงเรียนพร้อมสนับสนุน 100% แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อย ไม่อยากเรียนหมอ บางคนอยากเรียนต่อสาย STEM หรือบางคนอยากเรียนต่อต่างประเทศ แต่พ่อแม่ไม่ยินยอม”

“ครูบอก ลูกศิษย์หลายคนเครียดมาก เดินมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งกับครอบครัวเรื่องการเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยครูได้แต่แนะนำให้กลับไปคุยกับผู้ปกครองก่อน บางเคสคุยกันไม่ได้ก็ต้องช่วยพูด แต่การตัดสินใจสุดท้ายก็ขึ้นกับ พ่อแม่กับเด็ก”

“ครูพูดวิงวอนด้วยน้ำตา ขอให้ผู้ปกครองเปิดใจรับฟังความฝันของลูกหลาน แล้วสนับสนุนให้พวกเขาไปถึงฝั่งฝันนั้น แม้ฝันของเด็กจะไม่ตรงกับความต้องการของพ่อแม่ หรือครอบครัวก็ตาม”

“รองผอ.ฝ่ายวิชาการ #kvis กล่าวเสริมว่า ยุคของพ่อแม่โตมาคือ 3.0 เน้นเรียนรู้การศึกษาแบบป้อนสู่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องทำตามระบบ ตามขั้นตอน แต่ยุคนี้ 4.0 หรือมากกว่านั้นแล้ว อย่าเอากรอบคิดแบบเก่าดึงลูกหลานไม่ให้ไปข้างหน้า”

หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น

“ฟังแล้วเศร้าแทนเด็กค่ะ เคยเจอเด็กมหาลัยน้องผู้ชาย อยากเรียนการพยาบาลแต่แม่ให้เรียนแต่บัญชี นางเศร้ามากน่างสาร ส่วนบ้านนี้สนับสนุนให้เด็กๆ ไปตามถนัดเลย คนโตไปด้านวาดเขียน คนเล็กไปทางเต้น สอบเข้า รร creative and performing arts ทั้งคู่ อย่างงี้เด็กแฮปปี้กว่า”

“ถูกต้องครับ..เพราะตอนลูกผม ผมบอกว่าเรียนเอกชนก็ได้นะ ถ้าไม่ชอบ ลูกผมหันมาถามอย่างไว..ทำไม พ่ออยากจ่ายแพงรึไง..เป็นอันสิ้นสุดการเจรจา เอาที่ลูกสบายใจ”

“ผู้ปกครองหลายคน เอาลูกมาชดเชยปมของตัวเองที่ทำไม่ได้ และอยากปั้นลูกเอาไว้เป็นหน้าตาตัวเอง”

“ความหวังดีของพ่อแม่ ที่บ่อยครั้งก็ไปทำร้ายลูกไม่รู้ตัว … สำคัญว่ารู้แล้ว จะยังยึดมั่นในความคิดของความเป็นพ่อแม่ต่อไปหรือไม่?”

“เห็นด้วยกับบทความนี้มากๆค่ะอาจารย์ แต่ไม่ใช่แค่พ่อแม่เท่านั้นที่กดดัน เพื่อนในห้องก็มีผลด้วยเช่นกัน ตอน ม.ปลายหนูเรียนห้องกิ๊ฟ พสวท. เพื่อนทุกคน ย้ำว่าทุกคนสอบติดแพทย์ เภสัช วิศวะ แต่หนูคนเดียวที่ตัดสินใจไม่เรียนต่อสายวิทย์-คณิต เลือกมาเรียนหอการค้า แต่ไม่เสียใจเลยสักนิด ที่ตัดสินใจเลือกเรียนในสิ่งที่หวัง ทุกวันนี้รู้สึกขอบคุณตัวเองมากๆ ที่ตัดสินใจไม่ผิด แม้สิ่งแวดล้อมจะไม่เห็นด้วยก็ตามค่ะ”

Credit Facebook : มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

อ้างอิงข้อมูลจาก : 1

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sorrawit

นักเขียนข่าวกีฬาประจำ Thaiger มีความสนใจในด้านกีฬาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรืออเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงชื่นชอบเกมและอนิเมะเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันสั่งสมประสบการณ์เขียนบทความกีฬาออนไลน์ มากกว่า 4 ปี หัวข้อที่เชี่ยวชาญคือเรื่องกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล ช่องทางติดต่อ gig@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button