ข่าว

ไขคำตอบ “ผู้ต้องหา” ไม่ทำแผนประกอบคำรับสารภาพได้ไหม?

ชวนทำความเข้าใจ “ผู้ต้องหา” ไม่ทำแผนประกอบคำรับสารภาพได้ไหม เปิดหลักกฎหมาย จากมุมมองด้านนิติศาสตร์ มีกฎหมายรองรับจริงหรือไม่?

กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทย ถึงความเหมาะสมเรื่องการทำแผนประกอบรับสารภาพ หลังมีข่าวดัง ตำรวจสาวตะโกนบอกน้องชายซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ไม่ให้ชี้จุดเกิดเหตุขณะทำแผนรับสารภาพ งานนี้หลายคนสงสัย ผู้ต้องหาสามารถปฏิเสธการทำแผนประกอบคำรับสารภาพได้ไหม ผิดกฎหมายหรือเปล่า? ไทยเกอร์จึงได้รวบรวมเกร็ดน่ารู้ เกี่ยวกับขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน จากเพจดังมากฝากกันแล้ว

การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ คืออะไร

การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ หรือมีอีกชื่อว่า การทำแผนประทุษกรรมนั้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนการสอบสวน มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุในกรณีที่ผู้ต้องหารับสารภาพ ว่าได้ลงมือทำอะไรไปบ้าง ตำรวจจะใช้อำนาจตามกฎหมาย ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และ 131 ที่บัญญัติเอาไว้ว่า

ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงคจ์ะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”

สำหรับวิธีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ จะเป็นการแสดงสถานการณ์ โดยตำรวจจะพาผู้ต้องหาไปชี้จุดเกิดเหตุ พร้อมให้แสดงสถานการณ์จำลอง เพื่อหาพฤติการแวดล้อมในการกระทำความผิด โดยจะมีการบันทึกภาพและวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน เพื่ออ้างเป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพในสำนวนคดีและชั้นศาลต่อไป

ไม่ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

ผู้ต้องหาปฏิเสธการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ผิดกฎหมายไหม?

สำหรับการปฏิเสธทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เพจเฟซบุ๊ก มุมกฎหมายดีๆ ได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2017 ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมทำก็มีสิทธิตามกฎหมาย ว่า

“การทำแผนประกอบ เป็นการแสดงสถานการณ์ขณะกระทำผิด สามารถอ้างส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพได้ แต่ไม่มีกฎหมายวางหลักบังคับให้ต้องทำแผน ผู้ต้องหาสามารถปฎิเสธก็ได้หรือ อ้างโดนบังคับให้ทำโดยมิชอบ ดังนั้น ก็เหมือนดาบสองคม”

นอกจากนี้แล้ว ทางเพจยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิด มีอาญาสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การใด ๆ ก็ได้ในขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งหากไม่ต้องการให้การ ก็สามารถปฏิเสธการไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพได้เลย และจะไม่มีความผิดทางกฎหมายด้วย

ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ไม่ไปได้ไหม

ทั้งนี้แม้ทางผู้ถูกกล่าวหา จะให้การรับสารภาพในการกระทำความผิด แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังมีสิทธิ์ทุกประการที่จะไปหรือไม่ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยพนักงานสอบสวนจะต้องบันทึกความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาเอาไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในคดีความต่อไป

ทั้งนี้หากใครอยากศึกษารายละเอียด เรื่องการทำแผนประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเพิ่มเติม สามารถไปอ่านข้อมูลเต็ม ๆ จากเพจ มุมกฎหมายดีๆ (คลิกที่นี่) กันได้เลย.

การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ คืออะไร

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button