สาวแชร์สาเหตุ ขายขนมเปี๊ยะเจ้าดัง รายได้วันละ 7 หมื่น แต่เจ๊งใน 3 เดือน
สาวแชร์อุทาหรณ์ ลงทุนทำขนมเปี๊ยะขายช่วงโควิด รายได้ดีวันละ 70,000 บาท แต่กลับเจ๊งขาดทุนภายใน 3 เดือน เพราะลืมคิดถึงปัจจัยข้อนี้
ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายคนย่อมประสบปัญหาในการทำธุรกิจอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่หันมาเอาดีได้ก็คงหนีไม่พ้นการขายของออนไลน์ เหมือนอย่างเคสเจ้าของร้านเสริมสวยที่ออกมาเล่าประสบการณ์การทำธุรกิจขนมเปี๊ยะในกระทู้พันทิปไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์กับบรรดาเพื่อนสมาชิกได้ฟัง โดยเจ้าของกระทู้ใช้นามแฝงว่า เล็บสั้น
เธอเล่าว่าก่อนหน้านี้เธอเปิดร้านเสริมสวย มริการรับทำเล็บ และสักคิ้ว กระทั่งในปี 2563 ที่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ทำให้ทางกรุงเทพมหานครสั่งเจ้าของกิจการปิดร้านค้าเป็นการชั่วคราว ซึ่งในช่วงเดือนแรกเธอก็ยังพอแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้อยู่ แต่เมื่อนานวันเข้าเงินทุนก็เริ่มร่อยหรอ จึงตัดสินใจหันมาทำขนมเปี๊ยะขายเพื่อนำเงินไปประคับประคองร้านเสริมสวยให้อยู่รอด
ช่วงแรก ๆ หญิงสาวรายนี้เริ่มนำขนมเป๊ยะออกไปขายตามตลาดนัด แม้จะอายอยู่บ้างที่ต้องมาขายของแต่ก็ต้องทำเพื่อปากท้อง บางครั้งเจอคนรู้จักก็จะช่วยอุดหนุนสินค้า เมื่อขายได้นานวันเข้าขนมเป๊ยะของเธอก็เป็นที่รู้จักจากการบอกกันปากต่อปาก ทำให้ขนมเปี๊ยะของเธอเริ่มขายดีมากขึ้นจนต้องให้ลูกน้องที่ร้านเสริมสวยมาช่วยกันขายไปก่อนในระหว่างที่รอร้านเสริมกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ
ระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กินเวลานานเป็นปี ทำให้หญิงสาวรายนี้เพิ่มเมนูขนมเปี๊ยะใส่ต่าง ๆ นำออกมาวางขายมากขึ้น และแน่นอนว่าเธอขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รายได้ตกวันละ 20,000-70,000 บาทเลยทีเดียว เพื่อฟันกำไรขนาดนี้เธอก็เริ่มคิดขยับขยายกิจการขนมเปี๊ยะของตัวเองไปอีกขั้น ลงทุนลงแรงซื้ออุปกรณ์เพิ่ม แถมยังขนทัพลูกน้องจากร้านเสริมสวยมาช่วยกันขายของเวลาไปออกบูธตามห้างสรรพสินค้าอีกด้วย
ทั้งนี้ ขนมเปี๊ยะที่เธอออกวางจำหน่ายมีราคาสูงถึงกล่องละ 95 บาท ซึ่งสิ่งที่เธอพลาดไปจากการคำนวณต้นทุนในการขายครั้งนี้ คือการที่เธอลืมว่าเธอขายดีเพราะช่วงนั้นมีโครงการคนละครึ่งช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ภายหลังที่โครงการคนละครึ่งปิดงบประมาณไป รายได้ของเธอจากการขายขนมเปี๊ยะก็ลดเหลือเพียงวันละ 15,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีค่าเช่าบูธอีกที่ละประมาณ 3,000-7,500 บาท
เธอจึงตัดสินใจลดการออกบูธมาขายเพียง 2 ที่ คือไอคอนสยาม โดยค่าเช่าที่วันละ 3,000 บาท และที่เซ็นทรัลพระราม 2 ค่าเช่าที่วันละ 2,800 บาท ส่วนค่าแรงคนขายเธอจ่ายให้วันละ 1,000 บาท แต่ขายได้เงินเพียง 20,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่รายจ่ายของเธอเกือบจะแตะหลักหมื่น ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนค่าทำขนมเปี๊ยะ และหากเธอขายสินค้าไม่ไม่หมดก็จำเป็นต้องนำไปทิ้ง เนื่องจากขนมร้านเธอไม่ใส่สารกันบูด แม้จะพยายามหาช่องทางขายผ่านออนไลน์แล้วแต่ก็ยังไม่รอด
หญิงสาวรายนี้ทนขาดทุนอยู่ได้ 3 เดือน ก็ล้มเลิกกิจการขายขนมเปี๊ยะ เรื่องนี้เองที่ทำให้เธอได้รับประสบการณ์ในการคำนวณค่าสินค้าเวลาทำธุรกิจ นั่นคือการขายต้องมีกำไรอย่างน้อย 60% ตอนนี้เธอทิ้งอุปกรณ์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่และใช้งานได้ไม่ถึง 2 ปี รวมกับสูตรขนมไว้เบื้องหลัง และหันกลับมาทำร้านเสริมสวยตามเดิม แม้จะมีลูกน้องลาออกไปมากถึง 3 คน เพราะเนื่องจากก่อนหน้านี้เธอบังคับให้ไปขายขนมเป๊ยะ
สำหรับประเด็นในกระทู้พันทิปเรื่องนี้ ก็มีทั้งเสียงตอบรับชื่นชมในการออกมาใช้ชิวิตตามฝันตัวเองแล้ว และพยายามจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อช่วยลูกน้องคนอื่น ๆ ในร้านเสริมสวยด้วย แต่หลายคนก็มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนราคาแพง ให้กับคนที่อยากขายของออนไลน์แต่ไม่ได้ศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วนเสียก่อน จึงทำให้ขาดทุนย่อยยับอย่างมหาศาลตามที่เห็น