ข่าว

บก.ลายจุด เปิดหลักฐาน “อีเมล ดร.เค็ง” ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง ใช้เป็นหนังสือลาออก

สมบัติ บุญงามอนงค์ เปิดจดหมายอิเล็กทรอนิค อีเมลที่ ดร เค็ง ส่งให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมตั้งข้อสังเกต 5 ข้อ ชี้ต่อให้เข้ากับ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังขัดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30

วันที่ 7 ธ.ค.2566 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ยังได้ออกมาโพสต์อัปเดตความคืบหน้ากรณีปมปัญหาระหว่าง ดร.เค็ง นักเรียนทุนปริญญาเอก กับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่มีปัญหาฟ้องร้องทางกฎหมายกัน โดยมีเหตุจากการที่ขอลาออกในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการชดใช้ทุน

Advertisements

ล่าสุด บัญชีเฟซบุ๊กของนายสมบัติ @nuling ก็ได้ลงเนื้อหาโดยเป็นการให้ข้อมูลในส่วนของรายละเอียดเนื้อหาของอีเมล หรือ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางมาวิทยาลัยฯ ได้ยึดเป็นหนังสือลาออก พร้อมกับที่ บก.ลายจุด ตั้งข้อสังเกตุ 5 ข้อ

รายละเอียดในเนื้อหาทั้งหมดระบุ “เปิด email ดร.เค็ง ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง ใช้เป็นหนังสือลาออก”

ข้อสังเกต

1.การยื่นใบลาออกจะต้องดำเนินการผ่านเอกสาร โดยยื่นต่อผู้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่งจะต้องมีลายเซ็นเจ้าของหนังสือกำกับ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2557 ข้อที่ 57

2.หาก มฟล. อ้าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ว่าการส่ง email สามารถทดแทนการยื่นหนังสือลาออกได้แล้วนั้น โดยที่ ดร.เค็ง ยังนั่งทำงานอยุูที่มหาวิทยาลัยจนมีหนังสืออนุญาตให้ลาออกนั้น เหตุใดมหาวิทยาลัยไม่แจ้งหรือขอให้ ดร.เค็ง เขียนหนังสือลาออกเป็นทางการแทนที่จะยึดเอา email ฉบับนี้เป็นหนังสือลาออก ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ

Advertisements

3.ข้อความใน email ฉบับดังกล่าวเต็มเป็นด้วยการบรรยายสภาวะการเจ็บป่วยทางจิตเวชอย่างเห็นได้ชัด และได้ถามไถ่ถึงการยกเว้นการชดใช้หนี้ ซึ่งการพิจารณาอนุมัติให้ลาออกจะต้องผ่านกระบวนการพูดคุยเรื่องการใช้หนี้ทุนก่อน แต่มหาวิทยาลัยกลับละเลยกระบวนการที่ต้องทำก่อนอนุมัติการลาออก

4.ในหมายเหตุของ email ดังกล่าวมีการระบุว่าเป็นจดหมายที่ไม่เป็นทางการ ดังนั้นการที่ มฟล. ยึด email ที่ไม่เป็นทางการนี้เป็นจดหมายลาออกนั้นได้อย่างไร

5.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “มาตรา 30” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 30” คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

“มหาวิทยาลัยฯ รับทราบอยู่แล้วว่า ดร.เค็ง มีอาการป่วยทางจิตเวชที่อังกฤษ 28 วัน และเมื่อกลับมาทำงานก็เกิดอาการกำเริบ และใน email ฉบับดังกล่าวก็ได้พูดถึงการเจ็บป่วยทางจิตเวช และภายหลังเหตุการณ์ลาออก ดร.เค็ง ยังได้ไปรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีธัญญา ซึ่งเป็นอาการป่วยที่ต่อเนื่องกันมา ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวต่อให้เข้ากับ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังขัดต่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.30 อยู่ดี”

โดยหลังจบประโยคในโพสต์ดังกล้าวยังมีการแท็กไปหาบัญชีโซเชียล MFU TODAY ของทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วย.

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ระบุ การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต.

ดร.เค็ง ตอนที่ 2
ภาพ Facebook @nuling

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button