เลือกตั้งนอกเขต ต้องเลือก ส.ส. เขตไหน ห้ามผิดเด็ดขาด
ตอบคำถามก่อนถึงวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 7 พฤษภาคม 2566 คลายข้อสงสัยสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต ต้องเลือก ส.ส. เขตไหน ระหว่าง ส.ส. ในเขตที่ลงทะเบียนไว้ หรือ ส.ส. ในเขตที่มีชื่อของเราในทะเบียนบ้าน วันนี้ทีมงานไทยเกอร์จะมาไขคำตอบให้คุณเอง ย้ำชัดๆ ว่าห้ามผิดเด็ดขาด
เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ถ้าเราเลือกตั้งนอกเขต ต้องเลือก ส.ส. เขตไหน
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต และลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไทย จะต้องไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยต้องไม่ลืมพกบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย
โดยผู้ที่เลือกตั้งนอกเขต ต้องเลือก ส.ส. ในเขตที่มีชื่อตนอยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ใช่เขตที่ลงทะเบียนไปใช้สิทธิ
โดยสามารถตรวจสอบเขตที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ boraservices.bora.dopa.go.th โดยให้กรอกหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้วกด “ตรวจสอบ”
หากต้องการทราบว่าตนต้องเลือกหมายเลขของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใด ให้ดูได้ที่หัวข้อ “เขตที่มีสิทธิ”
สามารถตรวจสอบหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. รวมถึงหมายเลขพรรคที่ต้องการได้ที่เว็บไซต์ election66.wevis.info ด้วยการพิมพ์ชื่อ เขต/อำเภอ ที่ต้องการ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งควรรู้ก่อนออกไปเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระบบ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่
บัตรสีม่วง : เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต
บัตรสีเขียว : เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือ พรรคการเมือง
สรุปแล้ว เลือกตั้งนอกเขต ต้องเลือก ส.ส.เขตไหน
เอาให้เข้าใจง่ายที่สุด ถ้าเรามีทะเบียนบ้านอยู่ ภูเก็ต เขต 3 แต่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตที่ กรุงเทพมหานคร เขต 10 วันเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต ให้เลือกเขตที่มีชื่อทะเบียนบ้าน = ให้เข้าคูหากา ส.ส. ที่อยู่ใน ภูเก็ต เขต 3 เท่านั้น
ห้ามจำหมายเลขของ กรุงเทพฯ เขต 10 ! เพราะถ้ากาเบอร์ผิด คนที่เราต้องการเลือกก็จะไม่ได้คะแนน เนื่องจากการเลือกตั้งปีนี้ แต่ละเขตแม้พรรคเดียวกันแต่เบอร์ผู้สมัครไม่เหมือนกัน
“เสียงของเรามีค่า อย่านอนหลับทับสิทธิ์ เลือกคนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ให้เข้ามาบริหารประเทศ โดยผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งนอกเขตกันไว้ อย่าลืมออกไปใช้สิทธิของคุณในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 โดยพร้อมเพรียงกัน.”