ไลฟ์สไตล์

1 เมษายน วันโกหก April Fool’s Day วันสำคัญสุดแปลกที่คนทั่วโลกต้องรู้จัก

1 เมษายน วันโกหก หรือวันเมษาหน้าโง่ ชื่อภาษาอังกฤษ April Fool’s Day หนึ่งในเทศกาลสุดแปลกที่ทั่วทุกมุมโลกต่างให้ความสนใจ และยังเป็นวันหยุดทางราชการในหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย จนหลายคนอาจจะสงสัยกันว่าทำไมถึงมีธรรมเนียมการพูดโกหกกันด้วย ในวันนี้ The Thaiger จะชวนคุณมาทำความรู้จักกับที่มาของวันโกหกที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

วัน April Fool’s Day 1 เมษายน เทศกาลสุดแปลกที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

ประวัติ April Fool’s Day

วันที่ 1 เมษายนของทุกปี ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่คนทั่วโลกนิยมแกล้งเพื่อน ๆ หรือคนสนิทของตัวเองด้วยการแกล้งโกหกในเรื่องต่าง ๆ เนื่องด้วยเป็นวัน “April Fool’s Day” หรือวันเมษาหน้าโง่ หรือจะให้เรียกแบบสุภาพก็คือวันโกหกของโลก แม้วันดังกล่าวจะไม่ใช่วันสำคัญของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันคนไทยก็รับเอาวัฒนธรรมนี้เข้ามาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตามกระแสทางสังคมและยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ต้นกำเนิดของวัน April Fool’s Day สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 – 19 ในแถบประเทศทางยุโรป เช่น ฝรั่งเศส กรีก อังกฤษ เป็นต้น ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองกันด้วยการเล่นมุกตลก โกหก หรือเล่าเรื่องหลอกลวงให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง และจะออกมาเฉลยในเวลาต่อมานั่นเอง

ตามบันทึกโบราณ พบว่าต้นกำเนิดของวัน April Fool’s Day มีความใกล้เคียงกับเทศกาลฮิลาเรียของโรมันที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม

จากตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ เล่าว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและแม่พระ (Nun’s Priest’s Tale) โดยเรื่องนี้มีการทำสำเนาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผัดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่จากเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน หรือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม หรือวันที่ 1 เมษายน ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลัง ๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่องโกหก

อีกหนึ่งทฤษฎีเชื่อว่าวันโกหก มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยแต่เดิมในสมัยยุคกลาง วันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันขึ้นปีใหม่ถูกเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

และเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้า ทำให้มีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ และบางส่วนก็รับรู้แต่ไม่เชื่อ พวกเขาจึงเลือกที่จะจัดงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่น ๆ พากันเรียกพวกเขาว่า “พวกเมษาหน้าโง่” นั่นเอง

แม้ที่มาอาจดูคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ประเพณีวันโกหกก็ได้สืบทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน กลายเป็นเทศกาลประจำปีที่นิยมทั่วโลก และมักปรากฎอยู่บนหลายสื่ออีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าว สื่อโฆษณา หรือแม้แต่โซเชียลมีเดียที่มักจะมีการสวมบทบาทเป็นคนดัง พร้อมโพสต์ข้อความเพื่อเรียกเสียงฮากันให้สนั่น

วันโกหก 1 เมษายน

วิธีการเล่นในวัน April Fool’s Day

วันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันโกหกของโลก เป็นวันที่คนแกล้งหลอกกันด้วยการแต่งเรื่องอะไรก็ได้มาหลอกให้คนอื่นเชื่อ จากนั้นค่อยเฉลยในตอนท้าย ซึ่งเรื่องที่เอามาหลอกนั้นจะต้องไม่ทำให้อีกฝ่ายถึงกับเลือดตกยางออก เกิดอันตราย และคนที่ถูกหลอกจะต้องไม่โกรธด้วย อย่างไรก็ตาม จะกุเรื่องอำใคร หรือแกล้งใคร ต้องระวังสักนิด เพราะประเทศไทยของเรามี พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หากเล่นเกิดเหตุอาจถูกดำเนินคดีได้นะคะ

1 เมษายน april fool's day

ทั้งนี้ หัวใจของการโกหกในวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี คือความตลก โดยเรื่องที่โกหกต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ต้องไม่ทำอันตรายให้คนอื่น หรือไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น และต้องไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย ฉะนั้นการโกหกที่ดีที่สุดคือต้องทำให้ทุกคนหัวเราะได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของวันแห่งความสนุกสนานนี้ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button