ข่าว

เปิดประวัติ “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” เจ้าสัวคนดี หลังถูกจับกุม เหตุหลบหนีตอนขึ้นศาล

ชวนรู้จัก “นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก” นักธุรกิจพันล้านคนดีของแผนดิน ฉายาแจ็คหม่าแห่งประเทศไทย ถูกตำรวจจับกุมตัวหลังก่อเหตุทำการหลบหนีนัดพิจารณาคดีในชั้นศาล กับประวัติคดีฉ้อโกงกระฉ่อนวงการที่ไม่ธรรมดา

นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก จากคนดีศรีอโยธยาของแผนดิน สู่ประวัติผู้ต้องหานักต้มตุ๋น ในคดีฉ้อโกงพันล้านและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อปี 2564 กระทั่งล่าสุดในวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2565 ได้ก่อวีรกรรมหลบหนีการพิจารณาคดีที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก จนสุดท้ายถูกตำรวจจับกุมตัวสำเร็จ

ต่อมา เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวกรวม 9 คน ได้ปรากฏตัวบนสังคมสื่ออีกครั้ง กรณีศาลพิพากษาจำคุก 1,155 ปี แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายสูงสุด 20 ปี ในฐานความผิดตาม พ.ร.ก. กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พุทธศักราช 2527, และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กรณีที่จำเลยและพวก ได้ร่วมกันเปิดบริษัทซื้อแล้วปล่อยเช่ากระเป๋าแบรนด์เนม เมื่อปี พ.ศ. 2463-2564 สร้างความเสียหายมูลค่ามากกว่า 1,000,000,000 (1 พันล้านบาท)

ทีมงาน The Thaiger จะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับเจ้าของฉายา “แจ็คหม่าเมืองไทย” หรือนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางนักธุรกิจที่และคดีฉ้อโกงเงินประชาชนกว่า 1 พันล้านบาทจนกลายเป็นที่โจษจันในทุกวันนี้ ถ้าพร้อมแล้วก็เข้ามาอ่านในนี้กันได้เลยครับ

ประวัติ “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก”

นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก เกิดที่จังหวัดกระบี่ ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนยาง เมื่อสมัยยังเด็กมักก่อวีรกรรมที่ไม่ดีต่าง ๆ อาทิ มีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนด้วยกัน เมื่อเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก็ได้ตั้งแก็งรีดไถเงินเด็กนักเรียนคนอื่น และต่อยอดไปเป็นเจ้ามือไพ่ เล่นพนันตีไก่ชน ก่อนจะเปิดเป็นบ่อนพนันเล็ก ๆ ด้านท้ายโรงเรียน

จากนั้นเมื่อเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เจ้าตัวเผยว่ามีความฝันอยากจะเป็นเจ้าพ่อมาเฟีย ทั้งนี้ พฤติกรรมนักเลงไม่เกรงกลัวใครยังคงตามมาเป็นปัญหาต่อคนอื่น ๆ จนทำให้ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก โดนไล่ออกจากโรงเรียนขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลในระดับชั้นมัธยมปลาย

กระนั้น ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ก็ยังคงเข้ารับการศึกษาภาควิชาสถาปัตยกรรม จากไทยวิจิตรศิลป์ ในระดับ ปวช. ก่อนจะเริ่มงานประจำในหมู่บ้านจัดสรร และเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนเชี่ยวชาญ จากนั้นเขาก็ออกมาทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยเริ่มจากหมู่บ้านขนาดเล็กเพียง 8 หลัง ที่บ้านเกิดจังหวัดกระบี่ ได้กำไรมาต่อยอดกิจการประมาณ 6 ล้านบาท

ประวัติ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก โกงพันล้านบาท

ผลงานด้านธุรกิจของ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก

เมื่อเริ่มต้นสร้างธุรกิจได้แล้ว ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ได้เริ่มต้นธุรกิจการสร้างคอนโดมิเนียม บริเวณหาดนพัรัตน์ธารา จังหวัดกระบี่ ขนาดความสูง 8 ชั้น ซึ่งในเวลานั้น นับว่าเป็นตึกคอนโดมิเนียมที่สุดในจังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2550

จากนั้นนายประสิทธิ์ก็ได้ตั้งฉายาตัวเองว่า “แจ็ค หม่า เมืองไทย” บนเว็บไซต์ prasitjeawkok.com อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าศิลปินชื่อดังอย่าง แอ๊ด คาราบาว ยังแต่งเพลงชื่อว่า “ประสิทธิ์ ผู้ให้” โดยเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 ก่อนที่เส้นทางของเขาจะจบลงด้วยการพวนพันกับคดีฉ้อโกงหลายพันล้านหลังจากนี้

คดีฉ้อโกงประชาชนพันล้าน

ย้อนกลับไปในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ตำรวจกองปราบปราม เปิดปฏิบัติการ “ปิดเกมส์คนเหนือโลก” โดยเปิดเผยว่า คดีนี้มีผู้ต้องหา 6 คน และมีนายประสิทธิ์เป็นหัวหน้าดำเนินการ ซึ่งทางด้านของนายประสิทธิ์เองได้เปิดบริษัทเครือข่าย เพื่อทำการหลอกเงินจากนักลงทุน

โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง จากนั้นในวันที่ 17 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ได้เดินทางมามอบตัวกับที่กองปราบปราม พร้อมเตรียมข้อมูลหลักฐานชี้แจงความบริสุทธิ์ของตนเอง

ความผิดฐานหลบหนีเจ้าพนักงาน

นายประสิทธิ์ต่อสู้ในชั้นศาลเรื่อยมา จนกระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2565 ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ได้เดินทางมาขึ้นศาลที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวกรวม 9 รายเป็นจำเลย ในความผิดผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บคอมพิวเตอร์ฯ กรณีหลอกให้ร่วมลงทุนซื้อคูปองทอง ลงทุนซื้อแพคเกจท่องเที่ยว และระบบสหกรณ์ออมทรัพย์

อ้างว่าการลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นตัวเลขเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก และผู้เสียหายก็ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ ส่งผลให้มีค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท

จากนั้น ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ได้ออกอุบายขออนุญาตเจ้าพนักงานไปเข้าห้องน้ำ เพื่อเข้าไปพบกับผู้ร่วมก่อเหตุหลบหนีที่ได้นำเสื้อผ้าลำลอง และอุปกรณ์ไขกุญแจมือมารอรับการหลบหนี

แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำการจับกุมนายประสิทธิ์ เจียวก๊กได้สำเร็จในอาคารศาลอาญา ทำให้ได้คดีพยายามหลบหนีเพิ่มอีกหนึ่งกระทง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ยังได้เร่งตามหาว่าใครคือผู้ช่วยเหลือแผนการหลบหนีของนายประสิทธิ์ เจียวก๊กในครั้งนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ยังเคยเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอยู่พักหนึ่งจากการที่เขาแสดงตนองว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันผ่านคำพูดและกิจกรรมผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งยังเคยแสดงรอยสักคำว่า “ทรงพระเจริญ” ต่อหน้าสื่ออีกด้วย เรียกว่ามีภาพลักษณ์ของคนดีย์ รักชาติบ้านเมือง พร้อมใส่ใจสังคมเต็มคาราเบล

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์พยายามหลบหนีและการฉ้อโกงประชาชนหลายพันล้านบาท ก็สื่อให้เห็นว่าคนที่ปากบอกว่าเป็นคนดี ทำดีเพื่อผู้อื่น หรือแสดงตนว่าเป็นผู้มีจิตใจเมตตา ก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำเบื้องลึกอันมีนัยสำคัญของเขาจะดีสมกับที่แสดงออกด้วยเช่นกันครับ อย่างไรก็ดี หากท่านรักใครชอบใครก็อย่าลืมหูลืมตา แต่ให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพราะสิ่งที่เคยคิดอาจไม่ถูกหรือผิดเสมอไปครับ.

บทสรุปคดีฉ้อโกง “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” จำคุก 1,155 ปี

หลังจากที่ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ได้ผ่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีฉ้อโกงในชั้นศาล และนับตั้งแต่กรณีโดนเข้าหาพยายามหลบหนีตอนขึ้นศาล ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา คดีฉ้อโกงประชาชนหมายเลขดำ อ.1837/2564 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท วีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลยที่ 1. น.ส.อมราภรณ์ หรือ พันตรีหญิงแพทย์หญิงอมราภรณ์ วิเศษสุข จำเลยที่ 2. บริษัท เหนือโลก จำกัด

โดย นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้จัดการ ในฐานะนิติบุคคล จำเลยที่ 3. นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อดีตประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน นักธุรกิจพันล้าน จำเลยที่ 4. นายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ จำเลยที่ 5. น.ส.ณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม จำเลยที่ 6. บริษัท เอ็มโกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด โดย นางสาวสิริมา เนาวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 7. น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ จำเลยที่ 8 และ นายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ จำเลยที่ 9

ทั้งหมด ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พุทธศักราช 2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11, 12, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343 และให้พวกจำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับคืน ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2563 ถึงวันที่ 19 เม.ย. 2564 พวกจำเลยได้ร่วมกันและแยกกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันด้วยการหลอกลวงและแสดงข้อความอันเป็นเท็จ

โดยการโฆษณาชักชวนประชาชนมาร่วมลงทุนซื้อขาย ฝากขายสินค้าแบรนด์เนม เช่น หลุยส์ วิตตอง ชาแนล แอเมส กุชชี่ และสินค้าทำความสะอาดสินค้าแบรนด์ เนม เป็นต้น ในหลายรูปแบบคิดโดยจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 40.15-51.1ต่อปี

ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินกฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี จนมีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อร่วมลงทุนกับพวกจำเลยตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่พวกจำเลยตั้งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วพวกจำเลยไม่มีเจตนานำเงินจากประชาชน และผู้เสียหายไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เป็นเพียงอุบายเพื่อนำเงินลงทุนมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกจำเลยเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาลกว่า 1,000 ล้านบาท ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย

ทั้งนี้อธิบดีศาลได้มีความเห็นแย้งเนื่องจากเห็นว่าจำเลยทั้ง 9 ราย มีพฤติการณ์และหลักฐานที่เชื่อได้ว่าร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มีการกระทำเป็นขบวนการ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดเชื่อมโยงกับนายประสิทธิ์และบริษัท ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของจำเลยจึงเห็นว่าจำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามฟ้อง

ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประวัติคนดีย์

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button