ราชกิจจาฯ ประกาศ ‘ช่อดอกกัญชา’ เป็นสมุนไพรควบคุม
ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศให้ ช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามขายให้เด็ก-นักเรียน รวมถึงห้ามโฆษณาเพื่อการค้าด้วย
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยใจความสำคัญคือการปรับให้ ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม และห้ามโฆษณาเพื่อการขาย รวมไปถึงห้ามจำหน่ายให้เด็ก-สตรีมีครรภ์อีกด้วย
ประกาศฉบับเต็มระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2565 ที่ได้ประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลกัญชา จากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ควรมีการควบคุมไม่ให้นำกัญชาเฉพาะส่วนที่เป็นช่อดอก ไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครอง และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 44 และมาตรา 45 (4) (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในการประชุม ครั้งที่ 99-4/2565 จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2565
ข้อ 2 ให้กัญชา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L วงศ์ Cannabaceae รวมทั้งชื่อวิทยาศาสตร์อื่นๆ อันเป็นชื่อพ้อง เฉพาะส่วนของช่อดอก เป็นสมุนไพรควบคุม
ข้อ 3 ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จําหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า จะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 และผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1) ผู้รับใบอนุญาตให้ศึกษาวิจัย ส่งออก จําหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าต้อง จัดทําข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนําไปใช้ และจํานวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูล นั้นต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด
2) ผู้รับใบอนุญาตให้ส่งออกสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออก ต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง ตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด
3) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ให้กับผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
4) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ให้กับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษา
5) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจําหน่าย โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ.2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะและผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์
6) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ผ่านเครื่องจําหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
7) ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้า
8) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ในสถานที่ ดังต่อไปนี้
(ก) วัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
(ข) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
(ค) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
ข้อ 4. ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เฉพาะในส่วนที่เป็น สมุนไพรควบคุมตามประกาศนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในข้อ 3 ของประกาศฉบับนี้ด้วย
ข้อ 5. แบบการรายงาน และแบบการแจ้งรายละเอียดการส่งออกสมุนไพรควบคุมรายครั้ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด
ข้อ 6. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”