ไลฟ์สไตล์

ประวัติ วันวชิราวุธ 25 พฤศจิกายน สดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ 6

รำลึกประวัติศาสตร์ความสำคัญเนื่องในวัน “วันวชิราวุธ” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 คือ วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หรือ บิดาแห่งลูกเสือไทย

สำหรับ วันวชิราวุธ หรือ วันวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จัดขึ้นเพื่อให้คนไทยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงมีคุณูปการต่อประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงทำให้ประเทศไทยมีชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 อีกด้วย ทำให้กลายเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่รัฐบาลไทยกำหนดให้มีการจัดพิธีรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ของในหลวงรัชกาลที่ 6 นั่นเอง

ประวัติ “วันวชิราวุธ” วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

วันวชิราวุธ หรือ “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” คือวันที่มีความเกี่ยวข้องกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และเป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี)

พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เมื่ออายุได้หนึ่งเดือน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ก็พระราชทานนามให้ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ” เมื่อทรงพระเยาว์ได้รับการศึกษาจากพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) และหม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทั้งในพระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนสวนกุหลาบ

กระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ก็ถูกส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์แรกที่ได้รับการศึกษาในต่างประเทศ ช่วงที่กำลังเล่าเรียนนั้น พระองค์ทรงศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ หลากหลายแขนง ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ทรงเดินทางกลับมาผนวชตามประเพณีที่ประเทศไทย และประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 โดยพระองค์เสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้เพียง 15 พรรษา ก็เสด็จสวรรคตเพราะพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษาเท่านั้น

แม้จะทรงครองราชย์ได้เพียงไม่กี่ปี แต่ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนชีพอยู่ พระองค์ก็ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญในหลากหลายด้าน ซึ่งเป็นคุณูปการอย่างมากต่อประชาชนคนไทย

จึงทำให้ทางราชการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์บริเวณหน้าสวนลุมพินี และกำหนดให้นที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันวชิราวุธและจัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปเป็นประจำทุกปี

วันวชิราวุธ 25 พฤศจิกายน 2566 ในหลวงรัชกาลที่ 6
ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว’ กับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ

ด้วยสายพระเนตรที่มองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทำให้พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติตลอดมานั้น เป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอย่างมาก และด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงศึกษาเล่าเรียนในหลายศาสตร์หลายแขนง ทำให้พระองค์พระราชกรณียกิจของพระองค์ประกอบไปด้วยด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการปกครอง

จัดตั้งเมืองจำลองต้นแบบประชาธิปไตย “ดุสิตธานี” และจัดให้มีพรรคการเมือง 2 พรรค มีหนังสือพิมพ์รายวันที่วิพากษ์ วิจารณ์การเมือง 3 ฉบับ ได้แก่ ดุสิตสมิตรายปักษ์ ดุสิตสมัย และดุสิตสักขี และทดลองให้มีการเลือกตั้งขึ้น

ด้านการศึกษา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

ด้านเศรษฐกิจ

มีการจัดตั้งธนาคารออมสินขึ้นในปี พ.ศ. 2458 และทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2459 เนื่องจากทรงเห็นว่าในอนาคตประชาชนจะต้องมีการสร้างอาคารบ้านเรือนเกิดขึ้นมากมาย

ด้านการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมันเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร หลังสงครามสิ้นสุดลงและฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ พระองค์จึงใช้โอกาสนั้นในการเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศเพื่อแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ด้านวัฒนธรรม

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2456 ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สตรีโสดให้ใช้คำว่า “นางสาว” นำหน้าชื่อ หากแต่งงานแล้วให้ใช้ “นาง” เพื่อสอดคล้องกับ “นาย” ของฝ่ายชาย รวมทั้งคำว่า “เด็กหญิง เด็กชาย” ด้วย

ด้านวรรณกรรม

นอกจากผลงานทางวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระนิพนธ์ขึ้นในหลากหลายรูปแบบแล้วนั้น พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการพิมพ์ฉบับแรกขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2465 และยังได้ให้เสรีภาพต่อสื่อทั้งหลายในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอีกด้วย

ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ

สำหรับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ มีวินัย และเคารพกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งต่อมาในภายหลังก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นกองอาสารักษาดินแดน ลูกเสือชาวบ้านและเนตรนารี

วันวชิราวุธ 25 พฤศจิกายน 2566 รัชกาลที่ 6
ภาพจาก : กรมประชาสัมพันธ์

นอกจากพระราชกรณียกิจสำคัญ ๆ ที่กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยังทรงเป็นผู้มีคุณูปการต่อคนไทยอย่างมหาศาล แม้ว่าจะทรงครองราชสมบัติได้เพียง 15 ปีก็ตาม ทำให้ชาวไทยร่วมใจกันถวายพระราชสมัญญานามให้พระองค์ว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ เพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระองค์

ด้วยพระเกียรติคุณอันมากมายของพระองค์ ทำให้ในวาระครบรอบวันราชสมภพ 100 ปี วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524 ทางองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องพระองค์ท่านให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก หลังจากนั้นในทุก ๆ วันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันวชิราวุธ เหล่าลูกเสือและเนตรนารีจะประกอบพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดีแด่พระองค์.

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : กรมศิลปากร

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button