เพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว เคลื่อนไหวปมดราม่า แบ่งคู่ถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ล่าสุดเพจผู้ประกาศข่าวคนดัง ขอพูดในฐานะประชาชนคนดูบอล ซื้อแพงขนาดนี้ ก็ควรได้ดูคุณภาพดีๆ หรือว่าไงครับ
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว มีการโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ โดยหลังจากมีประเด็นปัญหาการแบ่งช่องถ่ายทอดสดของมหกรรมลูกหนังระดับโลกขึ้น ล่าสุดเพจของผู้ประกาศข่าวดังก็ออกมาโพสต์ให้ความเห็น โดยระบุ ดังนี้
“ซื้อแพงขนาดนี้ ก็ควรได้ดูคุณภาพดีๆ หรือว่าไงครับ … ในฐานะประชาชนคนดูบอล เมื่อ กสทช.อนุมัติเงินกองทุน 600 ล้านให้การกีฬาฯ ซื้อลิขสิทธิ์ ‘บอลโลก 2020’ ก็น่าจะหาทางเจรจาให้ประชาชนได้รับชมการถ่ายทอด ‘ทุกนัด’ ด้วยคุณภาพระดับ HD (High Definition:ความคมชัดสูง)”
“การที่ ‘ทรูช่อง 24’ ได้สิทธิถ่ายทอดสด 32 คู่ เป็นช่อง SD (Standard Definition) ซึ่งการได้สิทธิถ่ายทอดสดแบบ Exclusive ช่องเดียว ก็เท่ากับคนทั่วไป จะได้ดูถ่ายทอดในคุณภาพความคมชัดระดับ SD เท่านั้น เช่นเดียวกับคู่ที่ช่อง SD อื่นๆ ได้ถ่ายทอดช่องละ 2 นัด ”
“ถ้าเกรงเป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งกับ ‘ทรู’ สปอนเซอร์ใหญ่ ก็ให้ถ่ายสดคู่ขนานกับช่อง HD ของรัฐก็ได้ ทั้ง NBT , ททบ.5 หรือ ไทยพีบีเอส (ซึ่งกำลังจะทดลองระบบ 4K พอดี)
ส่วนกรณี TrueVisions ได้ถ่ายทอดทุกคู่ในระบบ HD (หรืออาจจะมี 4K ด้วย) อันนี้คนเป็นสมาชิกอยู่แล้วก็ดูได้ โดยไม่เสียเงินเพิ่ม แต่คนไม่ได้เป็นสมาชิกล่ะ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องดู SD คงไม่มีใครบอกนะครับว่า มีให้ดูฟรี ยังไงก็ดูไปเถอะ”
ทั้งนี้ หลังจากโพสต์แสดงความเห็นดังกล่าวไม่นาน ทางเพจก็มีการลงโพสต์ข้อมูลเปิดรายชื่อภาคเอกชน 9 ราย ร่วมลงขัน 700 ล้านบาท สมทบ กสทช. ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก กาตาร์ 2022 โดยมีเนื้อหาว่า
หลังประเทศไทยบรรลุผลเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่าง 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 กับเอเย่นต์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ วงเงิน 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งถ้ารวมค่าใช้จ่ายภาษี ยอดรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท
สำหรับผู้สนับสนุนงบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ประกอบด้วย
- กสทช. มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ’ (กองทุน กทปส.) 600 ล้านบาท
- บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 300 ล้านบาท
- น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง (บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน)) 100 ล้านบาท
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท
- บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 20 ล้านบาท
- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท
- บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 10 ล้านบาท
- บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
- ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท