28 กันยายน “วันธงชาติไทย” ครบรอบ 106 ปี ความหมายสี “ธงไตรรงค์”
ชวนรู้จักประวัติ “วันพระราชทานธงชาติไทย” หรือ “วันธงชาติไทย” 28 กันยายน 2566 ครบรอบ 106 ปี สัญลักษณ์สูงสุดของชาติ รำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ เพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน
สืบเนื่องจากวันที่ 28 กันยายน 2566 “วันพระราชทานธงชาติไทย” หรือ “วันธงชาติไทย” เพื่อเป็นการรำลึกถึงธงชาติอันเป็นเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของชาติ แต่เดิมมีหลายรูปแบบ จนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธงชาติขึ้นใหม่ในพุทธศักราช 2460 อันมีนามว่า “ธงไตรรงค์”
จากนั้นทรงกำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า สีแดง หมายถึง “ชาติ” คือประชาชน สีขาว หมายถึง “ศาสนา” และสีน้ำเงินหมายถึง “พระมหากษัตริย์” เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ เพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดินและร้อยดวงใจคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียว
ประวัติ วันพระราชทานธงชาติไทย
จุดประสงค์ของการจัดตั้ง วันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ในพุทธศักราช 2460
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประเทศสยามในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศสัมพันธมิตรในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้วันพระราชทานธงไตรงค์ยังมีขึ้นเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเกิดความรักชาติความสามัคคีในคนไทย พร้อมศึกษาประวัติความสำคัญของธงชาติไทย และข้อปฏิบัติของธงชาติไทยรวมถึงความหมายของสีต่าง ๆ ในธงไตรรงค์
ธงไตรรงค์หมายถึงธงชาติไทยเริ่มใช้ครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยในปัจจุบันธงไตรรงค์หรือธงชาติไทย มักจะถูกอัญเชิญขึ้นเสาทุกวันเวลา 8.00 น. และเวลา 18.00 น. ในสถานที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธงชาติและความภาคภูมิใจในแผ่นดินไทย
สำหรับประวัติและที่มาของสี ธงชาติไทย ประกอบด้วยแถบ 3 สี โดยแต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันออกไป สีแดง หมายถึง เลือดที่พร้อมเสียสละพลีกายเพื่อชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธศาสนาอันเป็นสถาบันหลักของชาติ และสุดท้ายคือแถบสีที่ใหญ่สุดคือ สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชนทุกคน ที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวงมหาดไทย เข้าแถวเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน (Thai National Flag Day) ประจำปี 2566 ณ โถงกลาง ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในเวลาเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำบุคลากรกรุงเทพมหานครร่วมเข้าแถวเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และนายขจิต ชัชวาณิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นำบุคลากร เข้าแถวและร้องเพลงชาติไทย ณ ลานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
อ้างอิง : 1