ในวันนี้จะไปดูกันถึงกรณีที่ หากพนักงาน ลางานบ่อย เกินไปนั้น จะมีสิทธิ์โดน เลิกจ้าง ได้หรือไม่ และมีกฎหมายรองรับในกรณีที่ว่าหรือไม่ – อย่างไรบ้าง
(10 ส.ค. 2565) ในวันนี้ทาง The Thaiger จะมานำเสนอถึงบทความข่าวที่น่าสนใจจากสำนักข่าวช่อง 7 ถึงประเด็นกรณีที่พนักงานนั้น ทำการ ลางานบ่อย เกินไป จะมีสิทธิโดน เลิกจ้าง ได้หรือไม่ และถ้าดำเนินการทางกฎหมายแล้วนั้น มีข้อกฎหมาย หรือตัวบทไหนที่รองรับกรณีกันบ้าง
โดยกรณีตัวอย่างที่ทางช่อง 7 ได้ยกมานั้นก็คือ คดีชำนัญพิเศษ ที่ 48/2560 เริ่มจากที่ลูกจ้างลาป่วยลากิจบ่อยครั้ง นายแจ้งเตือนและให้เข้าโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน แต่ลูกจ้างก็ยังไม่ปรับปรุงตัว พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน นายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ ไม่ใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ในเวลาต่อมาลูกจ้างเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง ระบุว่าจำเลยจ้างเข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งฝ่ายการผลิตเริ่มงานเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2549 ต่อมาวันที่ 4 เม.ย.2557 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยให้มีผลวันที่ 11 เม.ย.2557 เป็นต้นไป ลูกจ้างจึงฟ้องขอให้นายจ้าง ชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
ฝั่งจำเลยได้ให้การว่า จากสถิติการลาป่วยของลูกจ้างรายนี้ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554-2556 มีจำนวนมากหลายครั้ง ทำให้ลูกจ้างรายนี้ถือว่าเป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในหน้าที่การงาน มีผลการทำงานตกต่ำตลอดมา ทางจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นไปตามข้อบังคับการทำงานหมวดที่ 11
ในชั้นต้น ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจะลาป่วยลากิจบ่อยครั้งจนเคยได้รับหนังสือเตือน แต่กรณีนี้ไม่เข้าลักษณะการเป็นผู้หย่อนสมรรถภาพหรือไร้ความสามารถจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นเพียงแค่การประพฤติตนบกพร่องขาดความรับผิดชอบเท่านั้น จึงให้นายจ้างซึ่งเป็นจำเลยจ่ายเงินจำนวน 26,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา
ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน ประชุมสำนวนปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า โจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานเดินเครน ต้องอุทิศเวลาในการทำงานให้นายจ้างอย่างเต็มที่ แต่กลับลาป่วยและลากิจบ่อยครั้ง ขาดงานหยุดงานจนเคยได้รับหนังสือเตือน จนนายจ้างไม่ได้รับการทำงานตอบแทนจากโจทก์คนนี้ในเวลาทำงานปกติ แม้จะเป็นการลาตามสิทธิ์ที่ได้รับอนุญาตจากนายจ้างแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการลาบ่อยครั้งจนเกินสมควร นอกจากนี้ลูกจ้างรายนี้ยังได้รับการประเมินผลตั้งแต่ปี 2553-2556 ในระดับต้องปรับปรุง (ระดับ C) ต่อเนื่องมาตลอด แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการทำงานที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายจ้างก็ไม่ได้เลิกจ้างทันที แต่กลับให้โอกาสในการแก้ไขฟื้นฟูปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานแล้ว แต่โจทก์ก็ไม่ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น จึงถือเป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ ไม่ใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้อง
โดยสรุปแล้วนั้น ในกรณีดังกล่าว ลูกจ้างแม้ว่าจะมีการ ลางานบ่อย จนได้รับเอกสารแจ้งเตือนแล้วนั้น ก็ยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่หย่อนความสามารถหรือไร้ความสามารถจนทำงานไม่ได้ โดยถือว่าเป็นผู้ที่ทำตัวไม่เหมาะสมเท่านั้น ทำให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยการ เลิกจ้าง ดังกล่าวแค่ส่วนหนึ่งตามศาลกำหนด (จากที่เรียกไป) แต่ทั้งนี้แล้วนั้นนายจ้างสามารถจะอุทธรณ์เรื่องได้
ที่ก็เป็นไปตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน ที่แม้ว่าจะไม่ถือว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถโดยตรง แต่ด้วยพฤติกรรมภายหลังจากการรับเอกสารแจ้งเตือน และระยะเวลาในการปรับตัวที่ไม่ดีขึ้นนั้นก็ทำให้นายจ้างมีสิทธิจะเลิกจ้างตามข้อบังคับการทำงานหมวดที่ 11 ได้ และไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยอีกด้วย
แหล่งที่มาของข่าว : ช่อง 7
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ