รู้จัก กล่องดำ คืออะไร ตัวไขปริศนา เครื่องบินจีนตก
กล่องดำ คืออะไร จากกรณีเหตุการณ์เครื่องบินตกที่จีน ของสายการบินไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ ที่เครื่องบิน Boeing 737-800 ตกแบบดิ่งพสุธา ตอนนี้ยังหาสาเหตุไม่ได้ สิ่งสำคัญคือจะช่วยให้ปริศนา เครื่องบินจีนตกไขกระจ่าง คือกล่องดำ ว่า เครื่องบินตกจีนเกิดจากสาเหตุอะไร เชื่อว่าจะต้องมีหลายคนแน่ ๆ ที่ข้องใจว่า แท้จริงแล้ว คำว่ากล่องดำ ที่ทุกคนชอบพูดถึงกันคืออะไร มีความสำคัญยังไงบ้าง วันนี้ The Thaiger ก็เลยจะมาตอบคำถามที่หลายคนสงสัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ เครื่องบินตก กล่องดำจะช่วยอะไรได้บ้าง ไปชมพร้อมกันเลย ?
กล่องดำ คืออะไร ตัวช่วย ไขความลับ เมื่อเครื่องบินตก ที่หลายคนยังไม่เคยรู้
Black Box กล่องดำ คือ อะไร กล่องดำหมายถึงอะไร
หากพูดกันตามตรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นบนท้องถนน อย่างน้อย ๆ เราก็ยังพอจะหากล้องวงจรปิด หรือกล้องหน้ารถ พร้อมพยานมาตามหามูลเหตุของอุบัติเหตุได้ แต่หากเกิดเหตุสลดขึ้นบนน่านฟ้าล่ะจะทำยังไง? ใช่แล้ว นั่นคือ หน้าที่ของ กล่องดำ หรือ Black Box อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน ที่ต้องมีอยู่บนเครื่องบินทุกลำ ตามกฎการบิน จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นั่นเอง
แต่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นกล่องดำ แต่ความจริง ตัวกล่องไม่ได้ดำเลยนะ เพราะตัวกล่องที่ว่า จะมีสีสันฉูดฉาด เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นอย่างชัดเจน โดยจะมีคำว่า “FLIGHT RECORDER DO NOT OPEN” ปรากฏอยู่ที่ด้านข้างของกล่อง ทั้งยังมีสีสะท้อนแสง ช่วยในการมองหา หากเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าที่ใดก็ตาม
นอกจากนี้ กล่องดำ ยังจะต้องมีเครื่องแจ้งตำแหน่งใต้น้ำ Pinger หรือ Underwater Locator Beacon-ULB เพื่อเป็นตัวช่วยในการค้นหาเหนือน่านน้ำด้วย โดยจะสามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลถึง 6 กิโลเมตร เลยทีเดียว
กล่องดำ มีกี่ประเภท มีแบบไหนบ้าง
โดยในปัจจุบันนี้ กล่องดำ จะมีด้วยกันอยู่ 2 แบบ ได้แก่
กล่องดำ The Cockpit Voice Recorder (CVR)
ช่วยในการบันทึกข้อมูล ในรูปแบบเสียงพูดของนักบิน และเสียงโดยรอบ มีตัวรับสัญญาณไมโครโฟนของนักบิน และสามารถได้ยินเสียงเครื่องยนต์ สัญญาณเตือนทั้งหมดได้ ตลอดจนเก็บรายละเอียดข้อมูลการทำงานทุกอย่าง เช่น การเปิดปิดสวิตช์ เป็นต้น
กล่องดำ The Flight Data Recorder (FDR)
กล่องดำอีกแบบ คือตัวบันทึกสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการปฏิบัติการบิน ต้องมีการบันทึกข้อมูลอย่างน้อย 11 จากทั้งหมด 29 ประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะ และขนาดของเครื่องบิน เช่น ระยะสูง ความเร็ว การดิ่ง เป็นต้น ซึ่งจะมีประโยชน์มาก ในการตรวจสอบต้นเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
กล่องดำ แข็งแรงขนาดไหน เสียหายได้มั้ย มีคำตอบ
โดยปกติแล้ว กล่องดำ จะถูกติดตั้งไว้ในส่วนท้ายของเครื่องบิน เพราะเป็นจุดที่สมบูรณ์มั่นคง ไม่ถูกรบกวน หรือเสียหายได้น้อยที่สุด ซึ่งหัวใจสำคัญของกล่องที่ต้องกลับมาในสภาพสมบูรณ์ที่สุด มีชื่อว่า Crash-Survivable Memory Unit (CSMU) แน่นอนว่า จะต้องผ่านการทดสอบมากมาย เพื่อให้มั่นใจว่า มีความแข็งแรง คงทนพอที่จะติดตั้งไว้บนเครื่องบิน โดยการทดสอบ จะมีดังนี้
- ทนต่อการแช่น้ำ 30 วัน
- ทนต่อแรงกด 5,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 5 นาที ทุก ๆ ด้าน
- ทนต่อความร้อน 2,000 °F (1,100 °C) นาน 1 ชั่วโมง
- ทนต่อการเจาะด้วยก้อนน้ำหนักขนาด 227 กิโลกรัม จากความสูง 3 เมตร
- ทนต่อแรงกระแทก 3,400 G ซึ่งเป็นแรงโน้มถ่วงของโลก
- ทนต่อสารเคมีและน้ำมัน
กล่องดำ หาเจอแล้ว ต้องทำยังไงต่อ
ในกรณีที่มีการค้นพบกล่องดำแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะต้องระมัดระวังที่สุดในขั้นตอนการเก็บกู้ เผื่อรักษาสภาพ ไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่ม ทั้งนี้ ยังต้องคงสภาพแวดล้อมขณะพบเจอกล่องดำไว้อย่างดีด้วย เช่น หากเจอแบบแห้งอย่าสัมผัสโดนน้ำ หากเจอแบบเปียกอย่าปล่อยให้แห้ง เพื่อรักษาข้อมูลภายใน ไม่ให้เกิดการสูญหาย
เมื่อได้ตัวกล่องมาแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับเครื่องอ่านผล โดยจะมีโปรแกรมพิเศษที่จะแสดงผล สาเหตุการเกิดเหตุได้อย่างชัดเจนเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่หากมีกรณีที่เสียหายหนัก อาจจะต้องมีการดึงแผงวงจรออกมาทำความสะอาด แล้วค่อยเชื่อมต่ออีกครั้ง ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และลักษณะของอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่เกิดขึ้น
จบกันไปแล้วนะคะ กับการพาไปทำความรู้จักด้วยกันว่า กล่องดำ คืออะไร ไขคำตอบที่ค้างคาใจ เกี่ยวกับอุบัติเหตุเครื่องบินตก บอกเลยว่า นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความรู้ดี ๆ ที่เราควรรู้ไว้ เพื่อประโยชน์ในอนาคต ส่วนครั้งหน้า The Thaiger จะนำเรื่องราวอะไรมาฝากกันอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ ?
อ้างอิง 1
เรื่อง : ชนกนันท์ สังข์เอียด
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- จีน สั่งระงับบิน ‘โบอิ้ง 737-800’ ทุกลำ หลัง เครื่องบินตก
- อินเดีย สั่งจับตา ‘โบอิ้ง 737-800’ หลังเหตุเครื่องบินตกในจีน
- วิธีการใช้ถังดับเพลิง ท่องจำให้ขึ้นใจ ไฟไหม้ เมื่อไหร่ จะได้ไม่ว้าวุ่น