เปิดแล้ว! สะพานพระราชวังจันทน์ สะพานเหล็กโค้งแห่งแรกของประเทศไทย
รมว. กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการเปิดการใช้งาน สะพานพระราชวังจันทน์ สะพานเหล็กโค้งแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมใช้งานในช่วงปีใหม่ 2565
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิด สะพานพระราชวังจันทน์ (โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงและหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธีเปิดสะพานครั้งนี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับประชาชน และได้ปล่อยขบวนรถอำนวยความปลอดภัยการจราจรให้กับประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ 2565
โดยมีหน่วยงานที่ได้บูรณาการร่วมกันประกอบด้วย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กรมท่าอากาศยาน และมีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับ นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวถึงรายละเอียดของการก่อสร้างสะพานพระราชวังจันทน์และการปล่อยขบวนรถ ณ บริเวณสะพานพระราชวังจันทน์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 27 ธันวาคม 2564
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางบนถนนและสะพานที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม
ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง การกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงมอบหมายให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการก่อสร้างสะพานพระราชวังจันทน์ (โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 79.950 ล้านบาท
โดยสะพานดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ ตัวสะพานมีความยาวรวม 116 เมตร แบ่งเป็น 5 ช่วงความยาว ผิวทางกว้าง 7 เมตร รองรับการจราจร 2 ช่องจราจร (ไป – กลับ) แต่ละด้านของสะพานมีทางเท้าและทางจักรยานกว้างด้านละ 3 เมตร โครงสร้างสะพานช่วงข้ามแม่น้ำมีลักษณะเป็นสะพานเหล็กโค้ง (Steel Arch Bridge) ความยาวช่วง 80 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างเสาตอม่อในแม่น้ำอันอาจจะเป็นอุปสรรคต่อประเพณีการแข่งเรือยาวที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ทช. ยังได้มีมาตรการเร่งรัดงานโดยการผลิตโครงสร้างเหล็กของสะพานแยกเป็นส่วน ๆ ในโรงงานแล้วนำมาประกอบติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งมาตรการดังกล่าวนอกจากจะทำให้ก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้แล้ว ยังสามารถช่วยลดผลกระทบจากการก่อสร้างต่อประชาชนในพื้นที่ได้
สำหรับส่วนประกอบอื่น ๆ ของสะพาน ได้แก่ ราวสะพานและเสาไฟฟ้าแสงสว่าง ได้ออกแบบให้มีความสวยงามโดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมของท้องถิ่นมาประยุกต์ ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพานที่แตกต่างจากสะพานอื่นและสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ทำให้สะพานแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ใจกลางเมืองพิษณุโลกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย
ปัจจุบันการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงได้กำหนดเปิดใช้สะพานในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งเป็นการยกระดับการคมนาคมในจังหวัดพิษณุโลก รองรับการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ตามนโยบาย “คมนาคมสีสัน สร้างสรรค์ประเทศไทย” ในการอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ส่งเสริมทัศนียภาพระหว่างการเดินทาง ช่วยหนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ได้ปล่อยขบวนชมรมรถจักรยานจังหวัดพิษณุโลกและรถอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ซึ่งประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง ป้องกัน ลดจำนวนอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย
โดยเป็นการสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงขับขี่และเสริมสร้างความร่วมมืออันดี สอดคล้องกับนโยบาย “คมนาคม UNITED”
ในโอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้พบปะพูดคุยกับประชาชนที่มาร่วมงานและมารอต้อนรับในบริเวณพื้นที่จัดงาน เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการของกระทรวงคมนาคมในอนาคต และเพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุดและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ