RBI จับมือแอนท์กรุ๊ป เร่งทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสำหรับ ธุรกิจร้านอาหาร
Restaurant Brands International (RBI) จับมือแอนท์กรุ๊ป เร่งทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสำหรับ ธุรกิจร้านอาหาร ทั่วเอเชีย-แปซิฟิก
ประเทศไทย, 21 ธันวาคม 2564 – Restaurant Brands International Inc. (“RBI”) หนึ่งในบริษัทที่ทำ ธุรกิจร้านอาหาร บริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์ เช่น TIM HORTONS®, BURGER KING® และ POPEYES® ประกาศความร่วมมือระดับภูมิภาคกับแอนท์กรุ๊ป (Ant Group) โดยจะใช้ประโยชน์จากโซลูชั่นดิจิทัลของแอนท์กรุ๊ปเพื่อเร่งการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของ RBI เพื่อสนับสนุนการทำงานของร้านอาหารแฟรนไชส์และการขยายธุรกิจในตลาดเอเชีย-แปซิฟิก
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว แอนท์กรุ๊ปจะทำงานร่วมกับร้านอาหารแฟรนไชส์ของ RBI ในแต่ละประเทศ เพื่อติดตั้งการใช้งานโซลูชั่นดิจิทัล รวมถึงโซลูชั่นมินิโปรแกรมในรูปแบบของ Software-as-a-Service (SaaS) และ Alipay+ ซึ่งเป็นโซลูชั่นด้านการตลาดและการชำระเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุมทั่วโลก ความร่วมมือในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบประสบการณ์หลากหลายช่องทาง (omni-channel) ที่ราบรื่นและสะดวกมากขึ้นสำหรับลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของร้านอาหาร
ด้วยโซลูชั่นมินิโปรแกรม SaaS แอนท์กรุ๊ปจะพัฒนามินิโปรแกรมสำหรับแต่ละแบรนด์ของ RBI ซึ่งได้แก่ Tim Hortons, Burger King และ Popeyes โดยมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพตลาดของแต่ละประเทศ ภายใต้มินิโปรแกรมนี้ ร้านอาหารแฟรนไชส์ของ RBI ในแต่ละประเทศจะสามารถผนวกรวมการดำเนินงานทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และช่วยให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานได้อย่างละเอียดและเจาะลึกมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ลูกค้าของร้านอาหารจะสามารถเข้าถึงบริการเพิ่มเติมได้ เช่น เมนูและการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless) การสั่งอาหารทางออนไลน์แล้วไปรับที่ร้าน หรือการส่งถึงบ้าน ฟังก์ชั่นการสแกนและสั่งอาหารภายในร้าน เป็นต้น นอกจากนั้น มินิโปรแกรมยังผนวกรวมกับ Loyalty Program ที่มีอยู่ในแต่ละแบรนด์ของ RBI และนำเสนอฟีเจอร์ด้านการตลาดดิจิทัลเพิ่มเติม เช่น การแจกคูปองส่วนลดแบบดิจิทัล ฯลฯ
เพื่อช่วยให้ร้านอาหารของ RBI เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น มินิโปรแกรมดังกล่าวจะถูกบูรณาการเข้ากับแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น ๆ ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมถึงแพลตฟอร์มของ Chope ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำด้านเทคโนโลยี F&B ระดับภูมิภาค และบริการอีวอลเล็ทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว RBI จะใช้ประโยชน์จากโซลูชั่น Alipay+ ของแอนท์กรุ๊ป เพื่อขยายทางเลือกในการชำระเงินสำหรับร้านอาหาร เว็บไซต์ แอพ และมินิโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง ด้วยการผนวกรวมโซลูชั่นต่างๆ ของ Alipay+ การดำเนินงานของ RBI จะรองรับการชำระเงินต่าง ๆ เช่น ทรูมันนี่ วอลเล็ท (True Money Wallet) ในไทย, Touch ‘n Go eWallet ในมาเลเซีย, GCash ในฟิลิปปินส์, Kakao Pay ในเกาหลีใต้ และอื่น ๆ อีกมากมาย
เอเครม โอเซอร์ ประธานประจำภูมิภาค APAC ของ Restaurant Brands International กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศการเป็นพันธมิตรครั้งสำคัญกับแอนท์กรุ๊ป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภารกิจของเราเพื่อเพิ่มความสะดวกกับลูกค้าในการสั่งและรับประทานอาหารที่ง่ายขึ้น รวมถึงการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่สะดวก และตรงความต้องการของลูกค้า ผู้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในเอเชียจะได้รับประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล และการรวมมินิโปรแกรมเข้ากับแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น ๆ เช่นกัน”
แองเจล เจา ประธานกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศของแอนท์กรุ๊ป กล่าวว่า “การนำระบบการชำระเงินดิจิทัลและนวัตกรรมทางการตลาดมาใช้เป็นเรื่องสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้บริการแบบไร้การสัมผัส (Contactless) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพื่อให้แบรนด์สามารถปรับตัวได้เท่าทันต่อตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ แอนท์กรุ๊ปมุ่งมั่นในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ RBI ต่อการมุ่งสู่เส้นทางดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น เพื่อนำเสนอประสบการณ์แก่ลูกค้าในรูปแบบใหม่ เชื่อมต่อลูกค้ากับแบรนด์ในเครือ RBI ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อมอบประสบการณ์เหนือระดับให้แก่ลูกค้า”
การปรับใช้โซลูชั่นดังกล่าวจะครอบคลุม 8 ตลาดในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหาร 1,500 สาขาภายใต้ 3 แบรนด์หลักของ RBI
แหล่งที่มาของข่าว : Restaurant Brands International (RBI)
สามารถติดตามข่าวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวธุรกิจ
- Gartner เปิดเผย 10 หัวข้อเทคโนโลยี ที่มีการค้นหาบนเว็บไซต์ในปี 2564
- Twitter : มัดรวมฟีเจอร์เด็ดของทวิตเตอร์ใน ‘ไทย’ ปี 2564