‘เอ้’ สุชัชวีร์ คือใคร หลังเปิดตัวท้าชิงผู้ว่า กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คือใคร หลังล่าสุดเปิดตัวท้าชิงเก้าอี้ ผู้ว่า กทม. ในนามพรรคประชาาธิปัตย์ เปิดประวัติ ผลงาน การศึกษา
เปิดประวัติ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เขาคือใคร? หลังชื่อนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เมื่อประกาศเปิดตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเพทฯ อย่างเป็นทางการ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้”
ประวัติ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. พ.ศ. 2515 ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวครู นายธีรศักดิ์ สุวรรณสวัสดิ์ บิดา เป็น ชาวจังหวัดระยอง ลูกหลานผู้นำท้องถิ่น อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และนางวัลลีย์ สุวรรณสวัสดิ์ (สกุลเดิมรตะพิพัฒณ์) มารดา เป็นทายาทตระกูลคหบดีซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
จบชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1-6 ที่โรงเรียนระยองวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดระยอง โดยสอบได้คะแนนรวมเฉลี่ยสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และสูงสุดในระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย ก่อนได้รับทุนโควตาช้างเผือก โดยไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ เข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 29
ผลงาน – ร่วมทีมสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และออกแบบอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
นายสุชัชวีร์ เข้าเรียนด้าน วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม University of Wisconsin- Madison, USA และวิศวกรรมอุโมงค์ ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก MIT Massachusetts Institute of Technology, USA และกลับมาเป็นศาสตราจารย์ด้านอุโมงค์
สร้างผลงานความรู้เกี่ยวกับงานด้านนี้โดยตรง คือ การร่วมทีมสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และออกแบบอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงนำหลักวิศวกรรม มุ่งมั่นแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพ ด้วยแนวคิดโมเดลแก้มลิง สร้างพื้นที่เก็บน้ำขนาดเล็ก ใหญ่ ทั่วกรุง
ระหว่างการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย MIT นั้น ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ ได้ฉายแววความเป็นนักบริหาร และนักการจัดการจนได้รับทุนเพื่อเข้าร่วมทำงานกับ ธนาคารโลก (World Bank) โครงการเศรษฐกิจของเอเชีย และเคยทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาเศรฐกิจโลกาภิวัฒน์ (Globalization Economy) แห่งสถาบัน MIT Industrial Performance Center (USA)
อีกทั้งยังได้ช่วยเหลืองานของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในการเป็นผู้ก่อตั้งและประธานยุววิศวกรแห่งประเทศไทย
จากการอุทิศตนในการวิจัยองค์ความรู้และพัฒนาวิชาการเทคโนโลยีก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ เพื่อยกระดับระบบสาธารณูปโภค การบริหารจัดการน้ำ และคมนาคมโลจิสติกส์ของไทย ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายสุชัชวีร์ ได้คิดค้นทฤษฎีการคำนวณขุดเจาะอุโมงค์ที่ก้าวหน้าด้วยประสิทธิภาพและความปลอดภัยซึ่งได้รับการอ้างอิงและนำไปใช้ประโยชน์มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และยังได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นเข็มทองคำที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
รวมถึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ระดับโลกที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ ประจำปี 2012 (Eisenhower Fellowships) ในฐานะผู้นำยุคใหม่ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี จากมูลนิธิประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ารับรางวัลจาก พลเอก คอลลิน พาวเวลล์ รมว.ต่างประเทศสหรัฐในสมัยนั้น
ดร.เอ้ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชา วิศวกรรมโยธา สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 เป็นศาสตราจารย์ ทางด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ คนแรกของประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 37 ปี
ผลงานด้านวิชาชีพมากมาย
ด้านวิชาชีพได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานการเคหะแห่งชาติ กรรมการและโฆษกกรรมการ รฟท. (2 วาระ) กรรมการบริษัทเดินรรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ กรรมการการไฟฟ้านครหลวง
ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย นายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ AHAISL
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมัยที่ 7)
อธิการบดี สจล.
จากประสบการณ์ระดับโลก และความคิดต่างสร้างการเปลี่ยนแปลง พี่เอ้ ปรับระบบการทำงานในมหาวิทยาลัย พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จนสำเร็จทันทีเมื่อรับตำแหน่งอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังในปี พ.ศ. 2558 และสร้างคณะและหลักสูตรใหม่ที่ทันสมัย สร้างนักนวัตกร วิศวกรรมชีวการแพทย์ แพทย์นวัตกร
เปิดคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์นานาชาติเปิดวิทยาลัยการบิน นานาชาติ สร้างความร่วมมือ ดึงสถาบันการศึกษาระดับโลกมาร่วมกับพระจอมเกล้าลาดกระบัง ได้แก่ Carnegie Melon University, สถาบันวิศวกรรมระดับประเทศของญี่ปุ่น KOSEN และ 42 Bangkok จากต้นแบบ Ecole 42 สุดยอดโรงเรียนด้านAI และ Coding ของโลกที่ทุกคนเรียนฟรี ไม่มีครู !!
ตลอดจนการสร้างโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าลาดกระบัง โรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์นวัตกรรม แห่งแรกของไทย และเตรียมเปิดอนุบาลนานาชาติ เน้นการเรียนมุ่งทักษะ Digital Skills สร้างมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก สร้างเด็กไทยให้เก่งไม่แพ้ใครในโลก
ระดมทีมอาจารย์ นักวิชาการ แพทย์ สร้างนวัตกรรมสู้โควิด19
ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ ได้ระดมพลังทีมอาจารย์ นักวิชาการ แพทย์นวัตกร ระดมทุนสร้างนวัตกรรมการแพทย์ สู้โควิด19 ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ mini ventilator เครื่องจ่ายอ๊อกซิเจน KMITL High Flow ตู้ตรวจเชื้อความดันบวก และลบ รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 1,420 ชิ้น ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาล 427 แห่ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย และระดมทุนสร้างโรงพยาบาลนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรของไทย “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” มุ่งยกระดับศักยภาพทางการแพทย์ และการสาธารณสุขของไทย ด้วยแนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” โดยได้ดำเนินการตอกเสาเข็ม เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา
ขอบคุณข้อมูล : suchatvee.org
- ดร.เอ้ สุชัชวีร์ เชื่อคนกรุงให้โอกาส หลังเปิดตัวชิง ผู้ว่าฯ กทม.
- ส่อง แคนดิเดตเลือกตั้งผู้ว่า กทม. หลังประชาธิปัตย์เปิดตัว ดร.เอ้
- พปชร เผยสามชื่อท้าชน ชัชชาติ แย่งตำแหน่ง ผู้ว่ากรุงเทพ มีผู้ว่าหมูป่าด้วย