ไม่มีหมวดหมู่

สรุปดราม่า ม.บูรพา ปมให้นิสิตแต่งสลับเพศรับปริญญาไปปรึกษาจิตแพทย์

ตั้งแต่ต้นจนจบ ดราม่า ม.บูรพา ให้นิสิตแต่งสลับเพศรับปริญญาไปปรึกษาจิตแพทย์ จากประกาศฉบับเดียวสู่ปมวิจารณ์ความหลากหลายทางเพศ

ดราม่านี้มีจุดเริ่มต้นมาจากวันที่ 29 ตุลาคม 2564 โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพจากประกาศมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งระบุว่า นิสิตที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2561 และ 2562 และต้องการขอแต่งกายสลับเพศ เพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในปี พ.ศ. 2565 ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย สามารถติดต่อเพื่อทำนัดตรวจได้ที่ “คลินิกจิตเวช” ของโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย

ต่อมาประกาศดังกล่าวนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการกล่าวหาว้า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ เป็นผู้ป่วยทางจิต

จากนั้น ดร.กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ได้โพสต์ภาพประกาศดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Jojoe Woodsen ระบุ ไม่เห็นด้วยกับระเบียบดังกล่าว พร้อมยกเหตุผล อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถอดผู้มีความหลากหลายทางเพศออกจากบัญชีอาการเจ็บป่วยทางจิตตั้งแต่ปี 1990 ดังนั้น ในปี 2021 การแต่งกายตามเพศสภาพของบัณฑิตจึงไม่ควรได้รับการตรวจทางจิตเวชด้วยประการทั้งปวง

อีกทั้ง ระเบียบฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างทางเพศ จะกระทำไม่ได้

สมาคมเพศวิทยาคลินิกฯ แจงเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่โรคความผิดปกติทางจิต

กระแสเริ่มลุกลาม โดยวันที่ 1 พ.ย. 64 สมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศแห่งประเทศไทย (TACS) ออกมาแสดงความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของเพศของประเทศไทย ชี้แจงข้อเท็จจริง ระบุ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพแตกต่างไปจากเพศกำเนิดนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่โรคที่เกี่ยวความผิดปกติทางจิตในการรับรู้เพศของตัวเอง

โดยยกประกาศถอดถอนภาวะโรคสลับเพศ หรือ transsexualism ออกจากบัญชีจำแนกโรคฉบับที่ 11 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ ดร.กังวาฬ ได้อ้างก่อนหน้านี้ด้วย

ล่าสุด มหาวิทยาลัย ออกมาชี้แจงข้อข้อเท็จทั้งหมดวันนี้

ล่าสุดจากรายงานของเว็บไซต์ มติชนออนไลน์ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (2 พ.ย.64) ดร.พิมลพรรณ เลิศล้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารภาพลักษณ์องค์กร มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประกาศรับปปริญญาดังกล่าว ยืนยันมหาวิทยาบูรพาให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ Gender ซึ่งรวมถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วย

แต่จากกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นนั้น เกิดขจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโรงพยาบาล ที่โพสต์ประกาศโดยไม่ได้แจ้งมหาวิทยาลัยให้ผู้เข้ารับปริญญามาดำเนินการ ด้วยเห็นว่าสำนักพระราชวังแจ้งกำหนดการพิธีพระราชปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2561-2562 เป็นวันที่ 19-21 มกราคม 2565 หลังจากเลื่อนไป 2 ปีด้วยสถานการณ์โควิด-19

แต่ข้อเท็จจริงกระบวนการแจ้งเข้ารับปริญญาของผู้สำเร็จการศึกษาปี 2561-62 ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ที่ผ่านมายังดำเนินการอิงประกาศมหาวิทยาลัยปี 2560 ที่ต้องไปโรงพยาบาล แต่เพียงขอใบรับรองแพทย์ยืนยันตัวตนทางเพศสภาพเท่านั้น ไม่ถึงต้องพบจิตแพทย์

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยกำลังจัดทำร่างประกาศใหม่สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาปี 2563 จะมีการประชุมผู้บริหารที่เกี่ยวข้องวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เพื่อจัดทำร่างประกาศที่สมบูรณ์ ทิศทางเป็นการให้นิสิตแจ้งความประสงค์ต้องการแต่งกายสลับเพศเพื่อเข้ารับปริญญาเท่านั้น ไม่ต้องขอใบรับรองแพทย์ เนื่องจากพิธีการมีนิสิตเป็นจำนวนมาก ต้องตรวจสอบชื่อบุคคลให้ถูกตัวตนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแบ่งแยก แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกและการรักษาความปลอดภัย

โดย ดร.พิมลพรรณ ได้ขออภัยถึงการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนจนกระทบต่อความรู้สึก ได้ตำหนิทางโรงพยาบาลและโรงพยาบาลได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวหลังโพสต์ไปไม่กี่ชั่วโมงในวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมทั้งได้ทำความเข้าใจกับคณาจารย์และนิสิตที่ไม่เห็นด้วยแล้ว

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button