ไลฟ์สไตล์

บุญข้าวประดับดิน คืออะไร ตรงกับวันที่เท่าไหร่ พาไปรู้จักประเพณีโบราณของอีสาน

ประเพณี บุญเดือน 9 หรือเรียกอีกอย่าง บุญข้าวประดับดิน ตรงกับแรม 14 ค่ำเดือน 9 สืบเสาะ ประวัติความเป็นมาประเพณีเก่าแก่ของอีสาน

เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้เห็นภาพการทำบุญจำนวนมากผ่านตา ไม่ว่าจะทางเฟซบุ๊ก หรือ ตามวัดวาอารามในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ซึ่งการทำบุญนี้ เรียกว่า “บุญข้าวประดับดิน” คือ ประเพณีภาคอีสาน ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และสัตว์นรกหรือเปรต หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นประเพณีทำบุญให้ผู้ล่วงลับของชาวอีสาน ปีนี้ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 หรือ วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566

บุญข้าวประดับดิน 2566
ภาพจาก : www.nectec.or.th

ในการทำบุญข้าวประดับดินนั้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ มาห่อด้วยใบตอง และทำเป็นห่อเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์ หรือโบสถ์ โดยการทำบุญข้าวประดับดินนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรก หรือเปรต

นอกจากนี้ บุญข้าวประดับดิน ยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิวอดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย

ประวัติ บุญข้าวประดับดิน

เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ยักยอกเงินวัดไปเป็นของตนเอง ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรก และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีก แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ญาติที่ตายไปจึงได้รับส่วนกุศล ดังนั้น การทำบุญข้าวประดับดิน คือการทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณีที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี

ประวัติ “บุญข้าวประดับดิน” วันที่เท่าไหร่

บุญข้าวประดับดิน 2566 ตรงกับวันที่เท่าไหร่

ประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ในภาคอีสาน “บุญข้าวประดับดิน” จัดขึ้นในวัน แรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุก ๆ ปี ซึ่งประเพณี บุญข้าวประดับดิน 2566 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566

บุญข้าวประดับดิน 2566
ภาพจาก : www.nectec.or.th

พิธีวันบุญข้างประดับดิน ทำอะไรบ้าง

วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 – ชาวบ้านจะเตรียมอาหารทั้งคาวและหวานไว้สำหรับทำบุญเลี้ยงพระ รวมถึงจัดเลี้ยงในครอบครัว และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว

โดยรายการอาหารจะมีทั้งวัตถุดิบหลากหลาย ข้าว มัน เผือก เนื้อ ปลา ขนม ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ เป็นต้น บางบ้านอาจเตรียมอาหารใส่ไว้เป็นกระทงตามแต่ความถนัด

วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 – ช่วงเช้ามืด ชาวบ้านจะเริ่มต้นวันด้วยการนำอาหารที่ตระเตรียมไว้เรียบร้อยไปวางไว้ตามพื้นดิน รวมถึงบริเวณภายในวัด โบสถ์ ศาลา ต้นโพธิ์ พร้อมกับจุดธูปเทียนเพื่อบอกกล่าวให้ผีสาง เปรตมารับอาหารเหล่านี้ รวมถึงแบ่งอีกส่วนหนึ่งไว้ไหว้ญาติที่ล่วงลับ

จากนั้นจะเป็นการนำอาหารอีกส่วนไปทำบุญ ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ ฟังเทศน์ฟังธรรม และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล โดยหลังจากถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์เรียบร้อยแล้ว บางท้องถิ่นจะมีการนำห่อข้าว ห่อขนมในใบตอง ไปวางตามพื้นดินในบริเวณวัด เพื่อให้ทานแก่ผู้ยากไร้ สัตว์ไม่มีเจ้าของ เป็นการทำบุญให้ทั้งคนเป็นและคนตาย จึงเป็นที่มาของชื่อประเพณี บุญข้าวประดับดิน นั่นเอง

อ้างอิง : 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button