หมอธีระวัตน์ เผย เริ่มเห็นปัญหา ภูมิคุ้มกัน วัคซีนโควิด-19
หมอธีระวัตน์ เปิดเผย ว่าได้เริ่มเห็นปัญหา ภูมิคุ้มกัน ของ วัคซีนโควิด-19 ในยี่ห้อ Sinovac ที่แม้จะได้รับครบ 2 โดสแล้วนั้น ยังคงมีระดับป้องกันเชื้อในระดับต่ำ
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2564 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการแสดงความเห็นใน ปัญหา ภูมิคุ้มกัน ของ วัคซีนโควิด-19 ที่ยังคงป้องกันในระดับที่ต่ำ
โดยเนื้อหาของโพสต์ความเห็นดังกล่าวนั้นมีด้วยกันดังนี้
“เริ่มเห็น ปัญหาภูมิขึ้นน้อยถึงน้อยมากมาก…ต้องเริ่มระมัดระวัง”
ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบสองเข็มไปแล้ว สามถึงสี่สัปดาห์พบว่ามีหลายรายที่ neutralizing antibody ไม่มี หรือที่สูงเพียง 20-30% การวัด ตัดที่ 20% inhibition คือ ความสามารถในการยับยั้งไวรัสได้ต้องมากกว่า 20% จึงจะถือว่ามีภูมิคุ้มกัน (ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ) ทั้งนี้ อาจจัดแบ่งออกได้ ดังนี้
- คนที่ได้รับวัคซีนตามปกติจะมีการตอบสนองที่สูง กลาง และต่ำ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ต้องขึ้น วัคซีนเทคนิคเชื้อตาย เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดสามเข็มในวันที่ศูนย์ สามและเจ็ดถึงจะเริ่มเห็นภูมิคุ้มกันในเลือดประมาณวันที่ 10 และขึ้นในทุกคนในวันที่ 14 ดังนั้น วัคซีนซิโนแวค ฉีดสองเข็มห่างกันหนึ่งเดือน จึงทำการประเมินที่สามหรือสี่สัปดาห์หลังจากเข็มที่สอง แต่ทั้งนี้ ควรจะต้องมีภูมิขึ้นในระดับน่าพอใจในทุกคน
- แต่ในบางกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในวันเดียวกัน รับการฉีดที่เดียวกัน ปรากฏว่า ไม่มีภูมิขึ้นเลย (น้อยกว่า 20%) อาจเป็นไปได้ว่าวัคซีนในชุดเดียวกันนั้น อาจจะมีปัญหา
- มีภาวะประจำตัวที่สำคัญ เช่น สูงอายุ และมีเบาหวาน ที่ภูมิไม่ขึ้น ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของสถาบันแห่งหนี่ง
- เริ่มมีการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งๆ ที่ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็ม และ astra 1 เข็มแล้ว บางรายที่ติดมีการตรวจวัดภูมิคุ้มกันหลังฉีดแล้วว่าขึ้น แต่ไม่สูงมาก
ดังนั้น ในกรณีที่ภูมิไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อยกว่า 68% ซึ่งเป็นตัวเลขในทางทฤษฎีที่มีความสัมพันธ์กับการป้องกันการติด อาจจะต้องพิจารณาถึงการได้รับ “วัคซีนเข็มที่สาม” ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อเก่าหรือยี่ห้อใหม่ก็ตาม
นอกจากนั้น ในกรณีของการเกิดอาการแพ้หรือมีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้ภูมิคุ้มกันยิ่งสูงขึ้น เพราะเป็นการอักเสบผ่านทางคนละระบบ
ขณะที่ ทางการสิงคโปร์ยินยอมให้ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหารอย่างรุนแรงฉีด mRNA ได้ แต่ปรากฏว่า ด้วยสาเหตุอะไรอธิบายไม่ได้ คนสิงคโปร์มีปฏิกิริยาแพ้ค่อนข้างรุนแรงต่อวัคซีน ดังนั้น ให้เป็นข้อปฏิบัติว่าถ้ามีอาการแพ้ดังกล่าวให้ไปฉีดวัคซีนอื่น เช่น ซิโนแวค
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19