ส.ส.นราธิวาส ซัดแผนจัดสรรงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่
กมลศักดิ์ ส.ส.นราธิวาส จวกแผนจัดสรรงบฯ แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ตอบโจทย์สภาพความเป็นจริง ชี้ชัดทุกวันนี้คนสามจังหวัดฯ ยากจนลงขึ้นทุกวัน
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระแรก ที่ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยได้อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของการแก้ปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระบุชัด เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและไม่ตอบโจทย์สภาพควารมเป็นจริงและผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
สำหรับแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสรรงบไว้ที่ 7,144.3 ล้านบาท อย่างไรก็ตามงบดับไฟใต้ที่ไม่ได้รวมอยู่ในแผนบูรณาการยังกระจายอยู่ในแผนงานอื่นๆ และหน่วยงานอื่นๆ อีกมาก
อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. รวมถึงเหล่าทัพต่างๆ ที่มีกำลังพลลงไปปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ และกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบกองกำลัง อส. (อาสารักษาดินแดน) เป็นต้น
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาในตอนนี้ คือ เรื่องของเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด-19 และการศึกษา แต่งบประมาณที่รัฐบาลกำลังจัดสรรให้นั้นเป็นการมองคนสามจังหวัดเป็นภัยต่อความมั่นคงมาโดยตลอด
“ผลกระทบจากสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ยังอยู่ แต่การจัดสรรงบประมาณหาได้ตอบโจทย์ตามที่ผมได้กล่าวถึงปัญหาใหม่ คนในพื้นที่เขาบอกว่าเขาต้องการอาหารกลางวัน ถามในฐานะที่เป็นคนหน้างานต้องเข้าเวรดูแลความสงบเรียบร้อยทำงานหนักกว่าภาคอื่นเขาก็ต้องการสวัสดิการจากกระทรวงมหาดไทย ถามคนทำมาค้าขายเขาก็ต้องการพื้นที่ขายของ” นายกมลศักดิ์ กล่าวในการอภิปราย
ขณะเดียวกัน นายกมลศักดิ์ ยังพูดถึงการจัดงบประมาณปี 2565 ให้กับ กอ.รมน. เพื่อสร้างกำแพงบริเวณลุ่มแม่น้ำ โก-ลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยปี 2565 จัดสรรงบ 128 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นงบผูกพัน 3 ปี
โดยในปี 2566 จัดงบฯ 256 ล้านบาท และ ปี 2567 จัดงบฯ 256 ล้านบาท รวมเป็นงบฯทั้งหมด 640 บาท สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เข้าใจวิถี ประเพณีและวัฒนธรรมของชนชาติมาลายู และ พี่น้องมาเลเซีย แทนที่จะจัดสรรงบเพื่อแก้ปัญหาประชาชน แต่กลับใช้งบเพื่อสร้างกำแพง ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาความมั่นคงที่ไม่ตอบโจทย์ และสะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมไม่เข้าใจประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้รายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ระหว่างปี 2558 – 2561 จากช้อมูลของ ธนาคารโลก ระบุ จังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตาก โดย 2 ใน 5 ของจังหวัดที่มีอัตรายากจนสูงสุดในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
- นายกฯ ยันดูแล โควิดทั่วถึงชายแดนใต้-เพิ่มเตียง-คุมเข้มด่านทางบก
- ครม.ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนใต้อีก 3 เดือน
- ประกาศ ห้ามบุคคล ‘4 จังหวัดชายแดนใต้’ ออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด