ท่องเที่ยว

เสนอ ‘ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เขาสก’ เป็นมรดกแห่งอาเซียน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน [ASEAN Heritage Park (AHP)] ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. มรดกอุทยานแห่งชาติอาเซียน (The Association for Southeast Asian Nation (ASEAN) Heritage Parks – AHP) อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมแห่งอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยอุทยานมรดกแห่งอาเซียนและการอนุรักษ์ (ASEAN Declaration on Heritage Parks and Reserves) ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อควรพิจารณาว่า พื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ต้องมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว มีความหลากหลาย มีคุณค่าโดดเด่นคู่ควรแก่การอนุรักษ์ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดจากประเทศสมาชิกว่ามีความสำคัญในฐานะพื้นที่อนุรักษ์สมควรได้รับการยกย่องไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับสากล อุทยานมรดกแห่งอาเซียนมาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยต้องมีคุณสมบัติที่ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ทางนิเวศ ความเป็นตัวแทนของภูมิภาค ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ ความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรม ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ และมีขอบเขตทางกฎหมายอย่างชัดเจนในด้านความเชื่อมโยงระหว่างพรมแดน

2. เรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอมาในครั้งนี้ เป็นการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอนให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง มีรายละเอียดข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ดังนี้

อุทยานแห่งชาติเขาสก

เป็นอุทยานแห่งชาติทางบกที่มีพื้นที่ป่าดิบชื้น ป่าพรุ และป่าเขาหินปูน พื้นที่กว่า 461,712.5 ไร่ อุดมด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด ได้แก่ เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน เลียงผา และสมเสร็จ อีกทั้งเป็นถิ่นอาศัยของพืชถิ่นอาศัยเดียวของกกเขาสก และชมพูสิริน รวมถึงบัวผุด ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในด้านวัฒนธรรม พื้นที่เป็นสถานที่ลอยอังคารของพุทธทาสภิกขุ และยังเป็นแหล่งที่สามารถพบวิถีชุมชนดั้งเดิม เช่น ชุมชนทำแพประมงพื้นบ้าน

อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน

เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีลักษณะภูมิประเทศทั้งเทือกเขาสูง เขาหินปูน และตะพักลำน้ำ และระบบนิเวศที่หลากหลายและเฉพาะตัว เช่น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย มีความสำคัญ ใกล้สูญพันธุ์และถูกคุกคาม เป็นแหล่งพืชชนิดใหม่ในประเทศไทยและพืชชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีระบบนิเวศถ้ำที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมี “ถ้ำหลวง” เป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย รวมถึงลักษณะของภูเขาเรียงตัวสลับซับซ้อนเป็นรูปผู้หญิงนอน มีการพังทลายของภูเขา ทำให้เกิดถ้ำ ปล่องโพรง เป็นจำนวนมาก และมีแหล่งน้ำที่เกิดจากภูมิประเทศแบบคาสต์ คือสระมรกต มีน้ำสีเขียวแกมฟ้ามรกต ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลออกมาจากถ้ำทรายทองและรอยแตกของภูเขาบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังพบว่ามีชนเผ่าชาติพันธุ์อยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่ ถึง 10 ชาติพันธุ์

3. คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบให้เสนอพื้นที่อุทยานเขาสก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแห่งใหม่ของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานอาเซียนว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพจะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เพื่อส่งเอกสารนำเสนอฯ ให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบและประเมินพื้นที่และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณาก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งอาเซียนต่อไป

4. การนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนแห่งใหม่ของประเทศไทย เป็นการรักษา ควาเป็นเอกลักษณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่คุ้มครอง สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายของระบบนิเวศในถิ่นที่อยู่ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ควรค่าต่อการสงวน รักษาไว้เพื่อให้เป็นมรดกทางธรรมชาติแก่ชนรุ่นหลังต่อไป

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button