ข่าวข่าวภูมิภาค

กรมอนามัย เล็งเพิกถอนใบอนุญาต ถ้ายังพบสิ่งปนเปื้อนในเครื่องดื่ม คาเฟ่ อเมซอน

จากกรณีที่ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนัก หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งจากกรณีโลกออนไลน์เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังจากที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้เผยเรื่องราวการซื้อโกโก้ปั่นจำนวน 2 แก้วมาดื่มกับน้องจากร้าน คาเฟ่ อเมซอน แต่กลับพบว่ามีเศษแข็งๆอยู่ในน้ำ และทางร้านได้ออกมายอมรับว่าเศษแข็งๆ นั้น เกิดจากบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำแข็งที่ใช้ในกระบวนการขนส่ง ล่าสุด อธิบดีกรมอนามัยได้ออกมาเร่งประสานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและตักเตือนแล้ว

 

Advertisements

โดยในวันนี้ (17 ต.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า โดยปกติแล้ว กระบวนการการผลิตน้ำแข็ง น้ำที่ใช้ต้องมีความสะอาดเทียบเท่ากับคุณภาพน้ำบริโภค ที่มีความสะอาดใส ไม่มีความขุ่น ไม่มีกลิ่นและ สิ่งปลอมปน รวมทั้งต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ไม่ให้มีการปนเปื้อน

 

เนื่องจากการผลิตน้ำแข็งถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และมีกำหนดแนวทางมาตรการในการควบคุมกระบวนการผลิตของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้มีความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนอยู่แล้ว โดยอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกำกับให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่นในฐานะผู้ควบคุมดูแลและออกใบอนุญาต

 

ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่าย ในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องน้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน, กรรมวิธีการผลิต, การใช้น้ำในการผลิต, สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง, การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ซึ่งจะต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ และต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท

Advertisements

 

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น กรณีที่ผู้บริโภคได้รับประทานสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย ที่คาดว่าอาจจะเป็นพลาสติกนั้น เนื่องจากมีปริมาณไม่มาก ร่างกายก็จะสามารถขับออกได้เอง ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่สำหรับทางด้านผู้ผลิตนั้น ทางกรมอนามัยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งลงพื้นที่เข้าตรวจสอบสาขาดังกล่าวและผู้ผลิตน้ำแข็งแล้ว ซึ่งเบื้องต้นจะต้องมีการตักเตือนและแนะนำวิธีแก้ไข ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับลูกค้าในอนาคตอีก แต่หากในอนาคตพบว่ามีความผิดพลาดอีก ก็อาจจะมีการเพิกถอนใบอนุญาตอย่างแน่นอน แม้ว่าทางต้นสังกัดจะมีสาขาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกับทางร้านในสาขาเช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม หากพบน้ำแข็งไม่สะอาด และมีสิ่งปลอมปน ขอให้แจ้งร้านค้าหรือร้านอาหารที่เข้าไปใช้บริการ และแจ้งหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุข เพื่อให้เข้าไปตรวจโรงงานผลิตน้ำแข็ง กิจการแบ่งบรรจุ ค้าส่งน้ำแข็ง ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพื่อหาสาเหตุ ให้ข้อแนะนำในการปรับปรุง และใช้อำนาจในการสั่งการทางกฎหมายให้หยุดเพื่อแก้ไข รวมถึงปิดกิจการได้ตามลำดับ เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

 

 

ที่มา เดลินิวส์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button