ข่าวภูมิภาค

กอ.รมน.ลงพื้นที่ภูเก็ต ตรวจสอบกรณีร้องเรียนโครงการคอนโดหรูที่กะตะน้อย รอศาลปกครองสูงสุดชี้แนวเขตป่าไม้

ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน.ลงพื้นที่ภูเก็ต ตรวจสอบข้อเท็จจริงร้องเรียนโครงการคอนโดหรูที่กะตะน้อย สร้างทั้งๆ ที่ นส.3 ก.ถูกเพิกถอน ด้านที่ดินหยุดออกโฉนดรอศาลปกครองสูงสุดชี้ชัด หาความชัดเจนแนวเขตป่าไม้ หวั่นกระทบผู้ซื้อกว่า 400 ห้อง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (14 ก.พ.) ที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 พลโทกิตติศักดิ์ บุญสุข รอง ผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 (ศปป 4) กองอำนวยการรักษาความมั่นใจภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารชุดเพื่ออยู่อาศัย(คอนโดมิเนียม) โครงการ เดอะ พีค เรสซิเด้นท์ หมู่ที่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ภายหลังที่นายสมบัติ อติเศรษฐ ประธานโรงแรมในเครือกะตะธานี ผู้ประกอบการ และชาวบ้านกะตะน้อย จ.ภูเก็ต ได้ร้องเรียนไปยัง ศปป.4 กอ.รมน.เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นมาของเอกสารสิทธิที่ดิน นส 3 ก เลขที่ 1863 หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 17 ไร่เศษ ที่ตั้งโครงการ เดอะ พีค เรสซิเด้นท์ การออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการของเทศบาลตำบลกะรน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบ โดยมีว่าที่ร้อยวิกรม จากที่ นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคไพร นายอำนวย พิณสุวรรณ เจ้าพนักงานที่ดินภูเก็ต นายไพศาล หนูพิชัย ผอ.ศูนย์ป่าไม้จังหวัดภูเก็ต นายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีตำบลกะรน อัยการจังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัดภูเก็ต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กอ.รมน.ภูเก็ต นายสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานโรงแรมในเครือ กะตะธานี และประธานมูลนิธิรักษ์ท้องถิ่น ผู้ร้องเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมชี้แจ้งถึงรายละเอียดในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน

Advertisements

จากนั้นในเวลา 13.00 น. คณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนที่ตั้งโครงการ เดอะพีค เรสซิเด้นท์ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขานาคเกิด หมู่ที่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่ขณะนี้กำลังก่อสร้างอาคารชุดเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 444 ห้อง จำนวน 11 อาคาร เป็นอาคารสูง 2 -5 ชั้น มูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท โดยโครงดารดังกล่าวสามารถขายได้หมดทั้งโครงการแล้ว ขณะนี้การก่อสร้างในส่วนของโครงการมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 70 สามารถโอนและส่งมอบให้ลูกค้าได้ภายในอีก 1 ปี ครึ่ง โดยมีนายทวีชัย ลีช้าย ทนายความโครงการ เดอะ พีค เรสซิเด้นท์ และวิศวกรโครงการให้ข้อมูลและชี้แจ้งรายละเอียดให้คณะได้รับทราบ

ก่อนที่ทางคณะ ศปป.4 กอ.รมน.จะเดินทางลงพื้นที่ในจุดที่ผู้ร้องเรียนได้นำป้ายผ้าที่มีข้อความคัดค้านการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมหรู มีติดไว้เพื่อแสดงสัญลักษณ์ไม่เอาคอนโดมิเนียม โดยมีนายสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานโรงแรมในเครือกะตะธานี และประธานมูลนิธิรักษ์ท้องถิ่น ได้ให้ข้อมูลและสาเหตุที่ชาวบ้านและผู้ประกอบการออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประชุมนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันให้ข้อมูลความเป็นมาของเอกสารสิทธิที่ดินและการอนุญาตก่อสร้างโครงการ เดอะ พีค เรสซิเด้นท์ โดยนายอำนวย พิณสุวรรณ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ชี้แจงถึงที่มาของเอกสารสิทธิที่ดิน นส.3 ก.เลขที่ 1863 เนื้อที่ 17 ไร่เศษ ว่า เมื่อปี 2536 ได้มีการยื่นขอออก นส.3 ก.แปลงดังกล่าว จำนวน 5 คน โดยไม่มีหนังสือแจ้งการครอบครอง (ไม่มี ส.ค.1) แต่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไม่สามารถออก น.ส.3 ก.ให้ได้ ต่อมาในปี 2552 ศาลปกครองสูงสุดยุติบังคับคดี ที่ดินแปลงนี้ไม่สามารถออก นส.3 ก.ได้ จากการตีความภาพถ่ายทางอากาศของกรมที่ดิน ปรากฎว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ไม่ผลัดใบ ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การออก นส.3 ก. หลังจากนั้นในปี 2554 มีการยื่นขอออก นส.3 ก.อีกครั้ง จาก 1 ใน 5 ของผู้ที่ยื่นขอออกในปี 2536 ทางสำนักงานที่ดินจึงได้พิจารณาคำขอใหม่ และออก นส.3 ก.ในปี 2555 โดยระบุว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าไม้ เนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 44 ตรว.ให้กับ นายสุชาติ รักสงบ และมีการซื้อขายที่ดินเปลี่ยนมือกันว่า จนถึงปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวมี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ และนายทรงชัย อัจฉริยหิรัญชัย เป็นผู้ครอบครอง โดยโคงการเดอะ พีค ซื้อต่อมาแต่ยังไม่มีการโอนแต่อย่างใด

หลังจากนั้นหนึ่งในผู้ที่ขอยื่นออกเอกสารสิทธิ นส.3 ก. ตั้งแต่เริ่มต้นได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราชได้พิพากษาให้เพิกถอน นส.3 ก.เลขที่ 1863
โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ออกเอกสารสิทธิที่ดินแปลงดังกล่าว ทางกรมที่ดินได้มีการอุทรณ์ ปัจจุบันอยู่ในขบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

นายอำนวย กล่าวเพิ่มว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางเจ้าของกรรมสิทธิ นส.3 ก. ได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินจาก นส.3 ก.เลขที่ดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานที่ดินได้หยุดดำเนินการในการออกโฉนดที่ดินแปลงนี้จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

Advertisements

ด้านนายไพศาล หนูพิชัย ผอ.ศูนย์ป่าไม้ภูเก็ต ชี้แจงว่า การตรวจสอบแนวพิกัดที่ตั้งของที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าไม้ และที่ผ่านมาทางป่าไม้จังหวัดภูเก็ตได้เข้าจับกุมผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว ที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในเขตป่าไม้มาหลายครั้ง ซึ่งศาลได้ตัดสินดำเนินคดีและยึดของกลางที่เป็นรถแบ็คโฮไว้แล้ว

ขณะที่ นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคไพร กล่าวว่า ในเบื้องต้นจากการรับฟังข้อมูลในที่ประชุม มีข้อสงสัยกรณีแนวเขตป่าไม้ซึ่งมีความแตกต่างกัน ระหว่างแนวเขตปี 2513 และ ปี 2543 ถ้ายึดตามปี 2513 พบว่า นส.3 ก.เลขที่ดังกล่าวล้ำเข้ามาในเขตป่า แต่ถ้ายึดตามแนวเขตป่าเมื่อปี 2543 ที่ดินแปลงดังกล่าวจะอยู่นอกพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงถึงที่มาที่ไปของแนวเขตทั้ง 2 แนว เพื่อทำความจริงให้กระจ่างต่อไป

ส่วนตัวแทนจากพัฒนาที่ดินจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า จากการตรวจสอบพิกัดของที่ดินแปลงดังกล่าวตามที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดมานั้น พบว่าที่ดิน นส.3 ก.ดังกล่าว อยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร และพบว่าที่ดินส่วนใหญ่อยู่บนภูเขา ความลาดชันร้อยละ 35

ขณะที่เทศบาลตำบลกะรน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ เดอะ พีค เรสซิเด้นท์ นายสุทธิชัย บัญญัติศิลป์ เจ้าหน้าที่กองช่าง เทศบาลตำบลกะรน กล่าวชี้แจง ว่า บริษัท กะตะ บีช จำกัด ได้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ เดอะ พีค เรสซิเด้นท์ เป็นอาคารชุดเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 444 ห้อง ทั้งหมด 11 อาคาร ความสูงตั้งแต่ 2 -5 ชั้น ซึ่งอยู่ในเขตผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จะต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และทางคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบ รวมทั้งเอกสารสิทธิที่ดินที่เป็น นส.3 ก.ทางเทศบาลจึงออกใบอนุญาตก่อสร้าง เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2561 และได้ต่อใบอนุญาตก่อสร้างไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากทางบริษัทได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ

ในการต่อใบอนุญาตรอบใหม่นี้ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการร้องเรียน ทางเทศบาลได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามว่า จึงได้ให้ทางโครงการวางเงินมัดจำสำหรับการรื้อถอนและปรับสภาพพื้นที่ เป็นเงิน 3 ล้านบาท หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการออกเอกสารสิทธิ นส.3 ก. แปลงดังกล่าว และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ การที่จะจดทะเบียนเป็นอาคารชุดเพื่ออยู่อาศัยนั้นเอกสารสิทธิที่ดินจะต้องเป็นโฉนดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เป็นห่วงในส่วนของผู้ชื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ จะได้รับผลกระทบหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเอกสารสิทธิ นส 3 ก.และไม่สามารถที่จะออกโฉนดได้ อาคารดังกล่าวจะต้องเป็นอาคารชุดอยู่อาศัยรวม ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นคอนโดมิเนียมได้ จึงได้มอบหมายให้ทางนายอำเภอประสานกับทาง สคบ.จังหวัดภูเก็ต และศูนย์ดำรงธรรม เชิญเจ้าของโครงการมาชี้แจงรายละเอียด เพื่อไม่ได้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคต่อไป

พลโทกิตติศักดิ์ บุญสุข รอง ผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กล่าวภายหลังลงพื้นที่ ว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการและชาวบ้านกะตะน้อยได้ร้องเรียนเรื่องข้อพิพากษ์ และทางนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจากการตรวจสอบในมิติข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีความชัดเจนระหว่างผู้ร้องกับผู้ถูกร้อง โดยขณะนี้ขบวนการดังกล่าวอยู่ในขั้นศาล จะต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีสิ้นสุดก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนเอกสารสิทธิที่ดินจะถูกต้องหรือไม่นั้นจะต้องตรวจสอบและหาข้อเท็จจริงต่อไป

ขณะที่นายทวีชัย ลีช้าย ทนายความโครงการ เดอะ พีค เรสซิเด้นท์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่เกิดการร้องเรียน ทางโครงการได้ชะลอการก่อสร้างไปก่อน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและนำเอกสารต่าง ๆ มาแสดงให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับทราบต่อไป

นายสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานโรงแรมในเครือ กะตะธานี และประธานมูลนิธิรักษ์ท้องถิ่น กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องรอการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องเอกสารสิทธิที่ดิน และขอยืนยันว่าการออกมาคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องของธุรกิจ ไม่เคยรู้จักว่าคนมาลงทุนโครงการเป็นใครมาจากไหน แต่เป็นสิ่งที่มองถึงผลกระทบจากโครงการที่จะเกิดขึ้น โครงการอยู่ในพื้นที่ป่า การออกเอกสารสิทธิไม่มีที่มาที่ไป ไม่เคยทำประโยชน์มาก่อน ปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากโครงการเป็นจำนวนมากจะเอาไปไว้ที่ไหน ปัญหาระหว่างการก่อสร้าง ดินที่ไหลลงมาในแหล่งน้ำของผู้ประกอบการ ซึ่งรู้ๆกันอยู่แล้วว่าภูเก็ตขาดแคลนน้ำขนาดไหน

“เรื่องนี้ชาวกะตะน้อยต่อสู้มาเกือบ 2 ปีแล้ว ตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 60 และที่ผ่านมาในขั้นตอนการทำ EIA ของโครงการก็ได้คัดค้านผ่านทางบริษัทที่ปรึกษาที่จัดทำรายงาน EIA ไปแล้ว รวมไปถึงคณะกรรมการพิจารณา EIA อีกด้วย แต่กลับปล่อยให้มีการก่อสร้างมาจนถึงทุกวันนี้” นายสมบัติ กล่าวในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button