เหตุปะทะไทย-กัมพูชา สะเทือนสวีเดน อนาคตดีล กริพเพน เช็กเข้ม หวั่นกฎหมายมนุษยธรรม

สงครามชายแดนไทย-กัมพูชา ส่อเค้ากระทบถึงสวีเดน แม้ กริพเพนไทย เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์ส่งรบจริงครั้งแรก แต่ประเทศผู้ผลิตเครื่องบินโจมตีขับไล่สุดล้ำ หวั่นอนาคตซื้อขายบนคมหอกกฎหมาย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนย้ำตามสถานการณ์ใกล้ชิด สื่อนอกมองภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก รัฐบาลแดนไวกิ้ง เมื่อกฎหมายว่าด้วยมนุษยธรรมกำลังขัดแย้งกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล
ในทุกความขัดแย้งด้วยอาวุธ สมรภูมิจึงมิได้จำกัดอยู่แค่ “แนวรบ” แต่ยังขยายวงไปถึงระเบียงอำนาจทางการเมืองในอีกซีกโลกหนึ่งเสมอ และการปะทะกันอย่างรุนแรงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาครั้งล่าสุดก็กำลังส่งแรงสั่นสะเทือนไปไกลถึงสวีเดน ผู้ผลิตเครื่องบินรบสมรรถนะสูงอย่าง “ยาซ 39 กริพเพน” (Jas 39 Gripen)
สถานีโทรทัศน์ SVT ของสวีเดนรายงานว่า มีข่าวว่ากองทัพไทยได้ใช้เครื่องบินขับไล่กริพเพนที่ผลิตในสวีเดน เข้าปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กัมพูชา ซึ่งได้จุดประกายคำถามเชิงจริยธรรมและกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่ออนาคตของข้อตกลงซื้อขายมูลค่าหลายพันล้านที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา
หนังสือพิมพ์ “เดอะ เนชั่น” (The Nation) ของไทยระบุว่า ในการโจมตีทางอากาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กองทัพไทยได้ใช้เครื่องบิน F-16 ของสหรัฐฯ 2 ลำ และเครื่องบินยาซ 39 กริพเพน 2 ลำ ซึ่งข่าวดังกล่าวได้สร้างความกังวลในกรุงสตอกโฮล์มทันที
นางมาเรีย มัลเมอร์ สเตเนอร์การ์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน กล่าวกับ SVT ว่า เรากำลังติดตามพัฒนาการของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และทุกฝ่ายต้องทำงานเพื่อนำไปสู่การเจรจาและการลดระดับความรุนแรงอย่างสันติ

บททดสอบกฎหมายและมโนธรรม
สถานการณ์นี้เปรียบเสมือนบททดสอบครั้งสำคัญของกฎหมายการส่งออกอาวุธของสวีเดน ซึ่งได้รับการแก้ไขให้เข้มงวดขึ้นเมื่อปี 2018 โดยกำหนดให้ต้องพิจารณาสถานะทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประเทศผู้ซื้อด้วย
แม้ผู้ขายคือบริษัท Saab แต่การส่งออกอาวุธของสวีเดนถูกควบคุมโดยรัฐบาลอย่างเข้มงวดผ่าน สำนักงานตรวจสอบผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ (ISP) ซึ่งนางสเตเนอร์การ์ดระบุว่า หากการขายเครื่องบินกริพเพนเพิ่มเติมจะเกิดขึ้นในอนาคต ISP จะต้องทำการตรวจสอบ “ตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น”
มาร์ติน ลุนด์มาร์ค ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งชี้ว่า ในความเห็นส่วนตัวของตนนั้น ประเทศไทยได้พัฒนาไปสู่ระบอบเผด็จการทหารที่มีสถานะทางประชาธิปไตยอ่อนแอ
ความเห็นนี้สอดคล้องกับรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนเองในปี 2022 ที่ระบุ แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองโดยพลเรือนอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งปี 2019 แต่ภาวะถดถอยทางประชาธิปไตยของประเทศยังคงดำเนินต่อไป
นี่คือภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของรัฐบาลสวีเดน เมื่อกฎหมายว่าด้วยมนุษยธรรมกำลังขัดแย้งกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล


เดิมพันพันล้านบนเส้นด้าย
ปัจจุบัน กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินกริพเพนประจำการอยู่ 11 ลำ จากข้อตกลงที่ทำไว้เมื่อปี 2008 และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา Saab เพิ่งประกาศว่าไทยได้เลือก “กริพเพน E/F เป็นเครื่องบินรบแห่งอนาคต” ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ากองทัพอากาศไทยต้องการเครื่องบินทั้งหมด 12 ลำในระยะ 10 ปี โดยได้ตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ราว 5.7 พันล้านโครนาสวีเดน (ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท) สำหรับเครื่องบิน 4 ลำแรก
ด้าน ISP ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลให้ความเห็นอย่างระมัดระวังว่า การประเมินในแต่ละกรณีเป็นความลับจึงไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรงได้ อย่างไรก็ตามพวกเขาชี้ว่า “การมีอยู่ของความไม่สงบด้วยอาวุธ” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการอนุญาต
ขณะที่บริษัท Saab ยืนยันว่าการเจรจายังคงดำเนินอยู่ แต่ไม่ขอให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม นอกจาก “หวังว่าจะมีทางออกอย่างสันติต่อความขัดแย้งนี้โดยเร็วที่สุด”.

อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กริพเพนไทย ดียังไง หลังประวัติศาสตร์กองทัพส่งรบจริง ครั้งแรกของโลก
- สื่อนอกตีวิกฤตชายแดนไทย-กัมพูชา ดับรวมแล้ว 30 ยอดอพยพทะลุแสน
- กรณ์ ชี้เกมภาษีทรัมป์ ทางลง ฮุน เซน ถอยจากศึกที่ไม่มีวันชนะ
ติดตาม The Thaiger บน Google News: