อัยการสูงสุด สั่งแนวทางใหม่ คดีเมาแล้วขับ มีสิทธิ์โดนริบรถ หวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

สำนักงานอัยการสูงสุด ออกหนังสือเวียน แนวทางใหม่ คดีเมาแล้วขับ อัยการสามารถเสนอให้ศาลพิจารณา สั่งริบรถของกลางได้
วานนี้ (10 มิ.ย.) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “เมาแล้วขับ ระวัง จะโดนฟ้อง ศาลสั่งริบรถ กันด้วยนะครับ จากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากการขับรถในขณะเมาสุราก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายทรัพย์สินของผู้อื่น
สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้ออกหนังสือเวียน การดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางถนนที่มีความรุนแรงและความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำนักงานอัยการสูงสุดจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติเมื่ออัยการได้รับสำนวนคดีที่มีการดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราแล้วให้พิจารณาว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหา เมาแล้วขับ มีลักษณะเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม พรบ จราจรมาตรา 43 (8) ด้วยหรือไม่
หากพิจารณาแล้วเห็นว่าผิดและยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวกับผู้เมาแล้วขับให้พนักงานอัยการสั่งให้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา และในการฟ้องคดีให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งริบรถของกลางด้วย กฎหมายคุ้มครองสิทธิ ของประชาชน ปรึกษากฎหมายกับอัยการฟรี สายด่วนโทร 1157″

ขณะเดียวกัน “โกศลวัฒน์” ได้แนบภาพหนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ลงนามโดยนายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 68 ประกอบโพสต์ ในเรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราแล้วทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่น โดยอ้างถึง หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส (สฝปผ.) 0018/ว 380 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 เรื่อง ความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (8), 160 วรรคสาม
เนื่องจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยวดยานทางถนนของประชาชนในประเทศไทยมีความรุนแรง ซึ่งเกิดความเสียหายและต้องสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ขับรถในขณะเมาสุราแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น
ฉะนั้น เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางถนนที่มีความรุนแรงและเกิดความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำนักงานอัยการสูงสุดจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีที่มีการดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นไว้พิจารณา โดยให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าพฤติการณ์ในการขับรถขณะเมาสุราของผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีมีลักษณะเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2525 มาตรา 43 (8) ด้วยหรือไม่
หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาได้ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นความผิดดังกล่าวด้วย และยังมิได้มิการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหา ให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา และในการฟ้องคดีให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งริบรถของกลางตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส (สฝปผ.) 0018/ว 380 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 ตามที่อ้างถึงด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตำนาน ฮีโร่เหรียญทองแรกโอลิมปิก ถูกจับเมาแล้วขับ ก่อนหน้านี้เพิ่งเข้า ICU ไม่มีเงินรักษา
- “ลำเพลิน วงศกร” นักร้องดังประสบอุบัติเหตุ ถูกเมาแล้วขับชน เผยอาการล่าสุด
- นักแสดง “ฟอร์เรสท์ กัมพ์-ซิกซ์เซ้นส์” ถูกตั้งข้อหาเมาแล้วขับ ครอบครองโคเคน
ติดตาม The Thaiger บน Google News: