เพจดัง ขุดคลิป สตง. เซ็นสัญญาสร้างตึก ไม่รู้ได้ไงว่าเป็นบริษัทจีน

เพจ Drama-addict ชี้เป้า คลิป พิธีลงนามสัญญาก่อสร้าง สตง. เมื่อปี 2563 ในเพจ ล่าสุดถูกลบเข้าดูไม่ได้แล้ว หลังสตง.อ้างไม่รู้ว่าบริษัทจีนสร้างตึก-กม.ตรวจรับ เสนอ ยกเลิกสัญญา ม.ค. 68 แต่ไม่ทัน ผู้ว่าฯ หมดวาระเสียก่อน
เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เมษายน เฟซบุ๊กเพจ Drama-addict ได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตถึงคลิปวิดีโอ พิธีลงนามสัญญาก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งระบุว่าเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2563 โดยอ้างว่าคลิปดังกล่าวเคยโพสต์ในเพจที่เกี่ยวข้องกับ สตง. แต่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว ทำให้เกิดคำถามถึงความโปร่งใสว่าเหตุใดต้องลบทิ้ง
แม้ว่าคลิปอาจจะหายไปจากสื่อโซเชียล แต่ก็ยังโชคดีที่มีมือดีแคปคลิปการเซ็นสัญญาระหว่าง สคง กับ TDI-CREC (อิตาเลียนไทย -ไช่นาเรลเวย์ No.10) ในการสร้างตึกสำนักงาน สตง แห่งใหม่ ได้ทันเวลา > ชมคลิปเต็ม
การหายไป ของคลิปพิธีลงนามสัญญานี้ ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อนำไปเทียบเคียงกับข้อมูลที่ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการและโฆษก สตง. เพิ่งให้การต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาเพื่อติดตามการใช้งบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาว่า สัญญาโครงการก่อสร้างดังกล่าวได้ลงนามเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นคนละวันกับที่ระบุในคลิปวิดีโอที่เพจ Drama-addict กล่าวถึง

นอกจากนี้ เพจ Drama-addict ยังได้อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ MCOT DIGITAL หากย้อนข้อมูลสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. เมื่อ 4 ปีก่อน พบว่า กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่าง บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ บจก. ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) คว้างานก่อสร้างไปครองในฐานะผู้เสนอราคาต่ำสุดที่วงเงิน 2,136 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในส่วนของสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างมูลค่า 74.65 ล้านบาท ผู้ชนะการคัดเลือกคือ กิจการร่วมค้า PKW ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด
เป็นการยืนยันได้ว่า สตง.รับรู้อยู่ก่อนแล้วว่ามีบริษัทจีนเข้าร่วมงานก่อสร้าง ต่างจากที่ชี้แจงไปกับกมธ.วานนี้
สตง. แจงยิบ รับสร้างช้า-เคยจ่อบอกเลิกสัญญา
หากพิจารณาข้อมูล เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน ได้เชิญผู้ว่าการ สตง., ผู้บริหารจากกรมบัญชีกลาง, กรมโยธาธิการและผังเมือง, ดีเอสไอ และองค์กรวิชาชีพวิศวกรรม เข้าให้ข้อมูล โดย นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการและโฆษก สตง. เป็นผู้ชี้แจงหลัก
นายสุทธิพงษ์ ชี้แจงไทม์ไลน์โครงการตั้งแต่การว่าจ้าง บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ออกแบบอาคารสูงพิเศษ งบ 73 ล้านบาท จนถึงการได้ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และ บจก.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง โดยชนะประมูลที่ราคา 2,136 ล้านบาท (ต่ำกว่าราคากลาง 2,522 ล้านบาท) มีการลงนามสัญญาเมื่อ 23 กันยายน 2563 (แก้ไข 9 ครั้ง มูลค่าล่าสุด 2,131 ล้านบาท) กำหนดเสร็จ ธ.ค. 66 แต่มีการขยายเวลาจากผลกระทบโควิดและแก้สัญญาหลายครั้ง จนกำหนดล่าสุดคือ 14 มิถุนายน 2568 (ไม่มีค่าปรับตาม วอ.1459 และ วอ.3693)

อย่างไรก็ตาม โฆษก สตง. ยอมรับว่า ณ วันที่ 17 มีนาคม 2567 งานก่อสร้างควรคืบหน้า 86.77% ตามแผน แต่กลับทำได้จริงเพียง 33% ซึ่งเป็นความล่าช้าอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้มีมติให้เสนอเรื่องขอยกเลิกสัญญา แต่กระบวนการต้องหยุดชะงักเนื่องจากผู้มีอำนาจอนุมัติหมดวาระลงพอดี
นายสุทธิพงษ์ ยืนยันว่า สตง. จะไม่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ พร้อมดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่จะไม่ตั้งกรรมการสอบสวนภายใน เพราะต้องการให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสหาข้อสรุปที่แท้จริง ส่วนแผนในอนาคต จะยกเลิกการสร้างอาคารสูง และปรับแบบเป็นอาคารแนวราบที่เรียบง่าย ใช้งานได้จริงแทน โดยใช้งบประมาณที่เหลือ (คาดว่าไม่ถึง 2 พันล้านบาท) และก่อสร้างในตำแหน่งใหม่ ไม่ทับซ้อนจุดเกิดเหตุ พร้อมยืนยันว่าวัสดุทั้งเหล็กกับคอนกรีตได้มาตรฐานตามที่กำหนดในสัญญา
สรุปประเด็นข้อสงสัยคลิปอาคาร สตง.
การก่อสร้างล่าช้าอย่างหนัก
- ณ เดือนมีนาคม 2567 งานควรคืบหน้า 86.77% แต่ทำได้จริงเพียง 33%
เคยถูกเสนอให้ยกเลิกสัญญา
- คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มีมติให้เสนอขอยกเลิกสัญญาไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2568 แต่กระบวนการหยุดชะงักเพราะผู้มีอำนาจอนุมัติหมดวาระ
ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางมาก
- กิจการร่วมค้าฯ ชนะประมูลที่ราคา 2,136 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง (2,522 ล้านบาท) กว่า 300 ล้านบาท
มีการแก้ไขสัญญาถึง 9 ครั้ง
- ขยายเวลาก่อสร้างหลายรอบ
แม้โฆษก สตง. จะชี้แจงเหตุผลความล่าช้าว่าเกิดจากผลกระทบโควิด-19 และการแก้ไขแบบก่อสร้าง พร้อมยืนยันเรื่องคุณภาพวัสดุตามมาตรฐาน และระบุว่า สตง. จะไม่สอบสวนกันเอง แต่จะรอผลจากหน่วยงานภายนอก รวมถึงได้ยกเลิกแผนสร้างอาคารสูงและจะสร้างอาคารแนวราบแทนแล้วก็ตาม แต่การเข้าถึงไม่ได้ของคลิปวิดีโอพิธีลงนามสัญญา ซึ่งควรเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งในการตรวจสอบความโปร่งใส ก็ยังคงเป็นประเด็นคำถามที่สังคมและ กมธ. ต้องการคำตอบที่ชัดเจนต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สี จิ้นผิง ไม่แวะไทย บินตรง เวียดนาม มาเลย์ กัมพูชา ถกปมภาษีทรัมป์
- พบร่างผู้เสียชีวิต ตึก สตง. ถล่มเพิ่ม 4 ศพ จนท. แข่งกับเวลาหวั่นฝนตก
- ด่วน พบแสงไฟกระพริบ ใต้ซากตึก สตง. ลึก 3 ม. ยังมีหวังเจอคนรอดชีวิต