ข่าว

ขนลุก ภาพกู้ภัยตัวเล็กจ้อย กลางซากตึกมหึมา เร่งค้นหาคนรอดชีวิต ปาฏิหาริย์

ขนลุก ภาพกู้ภัยตัวเล็กจ้อย กลางซากตึกมหึมา ภารกิจกู้ภัยตึก สตง. ถล่มเข้าสู่วันที่ 7 ระดมกำลังค้นหาผู้รอดชีวิต หลังพบ เสียงขอความช่วยเหลือ

วันที่ 3 เมษายน 2568 – ภารกิจกู้ภัยช่วยเหลือผู้ติดค้างจากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ยังคงเดินหน้าอย่างไม่ลดละ แม้จะล่วงเข้าสู่วันที่ 7 นับตั้งแต่เกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งจากไทยและนานาชาติยังคงระดมกำลังอย่างเต็มที่ในความหวังว่าจะพบผู้รอดชีวิต หลังได้รับสัญญาณเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากใต้ซากอาคาร

เมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ระบุจุดเป้าหมายบริเวณโซน B ของอาคารถล่ม โดยพบสัญญาณเสียง และตำแหน่งจากอุปกรณ์สื่อสารที่สอดคล้องกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นบริเวณ “โพรงบันไดหนีไฟ” ที่อาจมีผู้ติดค้างรวมตัวกันอยู่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยืนยันขณะถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงจริงจากใต้ซากอาคาร พร้อมระบุว่า

“เครื่องมือสื่อสารสามารถจับพิกัดสอดคล้องกับเสียงที่เจ้าหน้าที่ได้ยิน”

ภารกิจรื้อถอนและค้นหาดำเนินต่อเนื่องตลอดทั้งคืน โดยเจ้าหน้าที่ได้ยกแผ่นซีเมนต์ขนาดใหญ่จำนวน 2 แผ่นออกจากจุดต้องสงสัย โดยเบื้องล่างมีลักษณะเป็นโพรง ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะโรยตัวลงไปสำรวจ แม้ยังไม่พบผู้ติดค้าง แต่ทีมแพทย์ฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือก็ได้เตรียมพร้อมรอให้การสนับสนุนในทันทีหากพบผู้รอดชีวิต

การปฏิบัติงานถูกแบ่งออกเป็น 2 หน่วย ได้แก่ ชุดกู้ชีพ และชุดรื้อซาก ซึ่งต้องทำงานสลับกันอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรหนักได้ เพื่อป้องกันไม่ให้โครงสร้างที่เหลืออยู่พังถล่มซ้ำ

ยอดผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 15 ราย แบ่งเป็นชาย 8 ราย หญิง 7 ราย ขณะที่ยอดผู้สูญหายยังคงอยู่ที่ 72 ราย

ภารกิจนี้ยังคงเป็นที่จับตาของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้สูญหาย ที่ยังคงเฝ้ารอปาฏิหาริย์อย่างมีความหวัง ขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกนายต่างยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้ และจะเดินหน้าค้นหาจนถึงที่สุด

นอกจากข่าวภารกิจกู้ภัยหลัง สิ่งที่คนพูดถึงกันมากในโลกออนไลน์คือไลฟ์สดของผู้ว่าชัชชาติ ที่แสดงให้เห็นภาพซากกองตึกขนาดมโหฬาร เทียบกับขนานตัวคนของกู้ภัยกว่าครึ่งร้อยชีวิต กลายเป็นเพียงตัวเล็กจ้อย แสดงให้เห็นว่างานกู้ซากออกมาเพื่อนำตัวเพื่อรอดชีวิตส่งถึงมือแพทย์ เป็นเรื่องที่หนักหนาและแข่งกับเวลามาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button