เปิดคำฟ้อง “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” เปลี่ยนความเร็วรถเฟอรารี “บอส อยู่วิทยา”
อ่านคำฟ้องศาลอาญาแบบละเอียดยิบ ฟ้อง “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง” กับพรรคพวก 8 คน ปมเปลี่ยนความเร็วรถเฟอรารีคดี บอส อยู่วิทยา
เมื่อ 29 สิงหาคม 2567 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบ อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดี ปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยืนฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง กับพวกรวม 8 คน เป็นจำเลยในคดีอาญา หมายเลขดำที่ อท 131 /2567 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 , 200 , 83 , 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123 /1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2563 มาตรา 172,192
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 เวลาประมาณ 05.20 น. เกิดเหตุนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาขับขี่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อเฟอรารี่ ไปตามถนนสุขุมวิทฝั่งขาออก มุ่งหน้าไปทางพระโขนง
เมื่อถึงบริเวณระหว่างปากซอยสุขุมวิท 47 และปากซอยสุขุมวิท 49 ได้ชนท้ายรถจักรยานยนต์ตราโล่ซึ่งมี ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันที่ ด.ต.วิเชียรขับขี่ส้มลงครูดไถลไปตามพื้นถนน หยุดอยู่ที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 ห่างจากจุดชนประมาณ 164.45 เมตร เป็นเหตุให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้รับความเสียหาย ด.ต.วิเชียร ถึงแก่ความตาย
ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีจราจรโดยมีพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมได้เองและรวบรวมพยานเอกสารประกอบสำนวนการสอบสวน โดยมีรายงานกองพิสูจน์หลักฐาน กลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตรวจสอบรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่จากภาพของกล้องวงจรปิด และจากการวัดระยะจริง ในสถานที่เดียวกับที่ปรากฏในภาพ
คำนวณอัตราเร็วเฉลี่ยในช่วงที่รถยนต์ในภาพเคลื่อนที่เข้ามาทางของภาพด้านขวาจนถึงจุดที่เคลื่อนที่ออกจากภาพทางด้านซ้าย เมื่อคำนวณอัตราเร็วโดยเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยการคำนวณดังกล่าวอาจจะมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้สรุปหลักฐานทางคดีและความเห็นของพนักงานสอบสวนส่งไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้
โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง นายวรยุทธ ฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สิน ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ เห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ฐานขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ด.ต.วิเชียร ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นเสียหาย เนื่องจากถึงแก่ความตาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2556 อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้ว มีคำสั่งฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย และ มีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ และมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ยุติการดำเนินคดีกับ ด.ต.วิเชียร ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ขนรถของผู้อื่นเสียหาย
ต่อมาผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตาย คำสั่งไม่ฟ้องจึงเด็ดขาดเป็นที่ยุติ
ในระหว่างนั้นความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของผู้อื่นเสียหาย ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินผู้อื่น ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ ได้ล่วงเลยพ้นกำหนดระยะเวลาอายุความตามกฎหมาย คงเหลือความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ต่อมาจำเลยที่ 8 ในฐานะพนักงานอัยการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสั่งคดี ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดได้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธและมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา291 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย ไม่แย้งคำสั่งพนักงานอัยการ คำสั่งไม่ฟ้องจึงเป็นอันเด็ดขาด
ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเป็นคณะกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ กองบังคับการตำรวจนครบาล4 กองบัญชาการตำรวจนครบาลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่4-7 ในขณะเกิดเหตุมิได้มีสถานะหรือได้กระทำการในสถานะเป็นเจ้าพนักงาน
แต่เป็นบุคคลผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือเจ้าพนักงานของรัฐในการกระทำผิด จำเลยที่ 8 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอัยการศาลสูง รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด
เมื่อระหว่างวันที่ 29 ก.พ. 2559 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2563 เวลากลางวัน จำเลยทั้งแปดได้กระทำความผิด จำเลยที่ 1-3 ได้อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกับจำเลยที่ 4-7 สมคบกันกระทำผิดด้วยการวางแผนร่วมกันเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธ ขับขี่ในวันเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันที่ ด.ต.วิเชียร ขับขี่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและ ด.ต.วิเชียร ถึงแก่ความตาย
จากความเร็วของรถยนต์ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ลงวันที่ 26 ก.ย. 2555 ซึ่งมี พ.ต.อ. ธ. เป็นผู้จัดทำรายงานไว้ว่ารถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่มีความเร็วโดยเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เป็นความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่ได้วางแผนกัน โดยให้จำเลยที่ 5 ดำเนินการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม ครั้งที่ 9 ต่อพนักงานอัยการในคดีที่นายวรยุทธเป็นผู้ต้องหา ขอให้สอบพยาน พ.ต.อ. ธ. ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่
เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม พ.ต.อ. ธ. ตามที่ร้องขอ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ได้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการคิดวิธีคำนวณความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่ให้มีความเร็ว
ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจำเลยที่ 7 ได้คิดค้นหาวิธีคำนวณโดยใช้วิธีนำความยาวของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่แล่นผ่านจุดใดจุดหนึ่งตามภาพที่ได้จากคลิปไฟล์ภาพที่ไม่ใช่ไฟล์ภาพต้นฉบับมาใช้คำนวณจนทำให้คำนวณความเร็วรถยนต์ได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันเป็นการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก จากนั้นจำเลยที่ 3 อาศัยโอกาสที่ตนเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพิ่มเติม พ.ต.อ. ธ. ตามคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานอัยการ
โดยนัดแนะและให้จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 7 เข้าร่วมการสอบปากคำดังกล่าวด้วย จากนั้นในขณะการสอบปากคำเพิ่มเติมจำเลยที่ 3 ได้ปล่อยให้จำเลยที่ 7 ได้แสดงวิธีคิดคำนวณความเร็วรถยนต์ตามที่ได้นัดแนะกับจำเลยที่ 5-6 ให้ พ.ต.อ. ธ. ดูเพื่อโน้มน้าว พ.ต.อ. ธ. ให้เชื่อคล้อยตามวิธีคิดคำนวณของจำเลยที่ 7 ที่ตระเตรียมมา โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ. ธ. อาศัยโอกาสที่มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 4-5 ทำการใช้อิทธิพลบังคับกดดันและโน้มน้าว พ.ต.อ. ธ. ให้ยึดถือวิธีการคิดคำนวณตามที่จำเลยที่นำเสนอ
โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำการพูดในขณะร่วมสนทนาและสอบปากคำว่า “สิ่งหนึ่งที่ผมพูดกับคุยน้อง มันไว้ ก็คือน้องเนี่ยคำนวณจากระยะ แล้วก็ออกมาเป็นความเร็ว ความเร็วที่คิดมันคิดจากทฤษฎีที่เป็นทฤษฎีที่คิดในห้องทดลอง ห้องทดลองก็จะอากาศเบาบาง คือมันพยายามให้คิดความเร็ว เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อการทำมาร์เก็ตติ้งความเร็วเท่าไหร่ เร่งเท่าไหร่ แต่ว่าในความเป็นจริง ในทัศนวิสัยเช่นว่ายามเช้าอากาศหนักอะไรอย่างเนี่ย ความเร็วไม่เป็นไปตามทฤษฎี นี่คือสิ่งที่ผมคิดนะ อย่างที่สองคือระยะทางที่ใช้คำนวณหน้ากล้องหลังกล้อง ความเร็วอาจจะเปลี่ยน อาจจะเร็วขึ้นก็ได้ อาจจะลดลงก็ได้ลดลงเพราะว่าทัศนวิสัยการจราจรอะไรก็แล้วแต่ที่มันอยู่ข้างหน้า ซึ่งในกล้องมันไม่ปรากฏ
นี่ผมคิดในมุมมองผมแบบนี้” กับให้ พล.ต.ท. ม. ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจพิสูจน์หลักฐาน ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ. ธ. พูดกับ พ.ต.อ. ธ. ว่า “ทางพี่ อ. (ซึ่งหมายถึงชื่อเล่นของจำเลยที่ 1) เขาอยากให้จบในชั้นอัยการเขาจะได้จบเลยจะได้ไม่ต้องสืบ” ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บริหารมีหน้าที่ต้องตรวจสอบถึงความบกพร่องของรายงานตรวจพิสูจน์หากเกิดความผิดพลาดขึ้นจริงรวมถึงตรวจสอบการคิดคำนวณตามวิธีของจำเลยที่ 7 ซึ่งใช้ไฟล์ที่มิใช่ต้นฉบับ
อันเป็นข้อสงสัยถึงวิธีการคิดคำนวณว่ามิได้อยู่บนรากฐานของความถูกต้อง แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบและได้พูดว่า “เราคำนวณตามอาจารย์ (ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 7) ได้มั้ย อาจารย์คิดได้ 79.22 เราไปลองดูซิว่าคิดตามแบบเขาได้ไหม” สอดคล้องกับจำเลยที่ 4 ที่พูดว่า “อยากขอให้เป็น 79.22 ตามที่ อาจารย์ ส. คำนวณ” ซึ่งพฤติการณ์ทั้งมวลนี้แสดงถึงเจตนาประสงค์จะหักล้างหลักฐานตามที่ พ.ต.อ. ธ. ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความเร็วรถยนต์ไว้
โดยใช้อิทธิพลบังคับกดดันให้ พ.ต.อ. ธ. เชื่อและยอมที่จะให้การเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่ เป็นเหตุให้ พ.ต.อ. ธ. ต้องจำยอมและให้การต่อจำเลยที่ 3 เปลี่ยนแปลงวิธีคิดคำนวณความเร็วรถยนต์จากเดิมที่คิดคำนวณไว้ความเร็วที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลง 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาเป็นให้การว่าการคำนวณดังกล่าวนั้นคลาดเคลื่อนและทำการคำนวณ ความเร็วใหม่ได้ความเร็วรถยนต์ 79.22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังที่จำเลยที่ 7 นำเสนอ จากนั้นจำเลยที่ 3 โดยคำแนะนำของจำเลยที่ 4 ได้จัดทำคำให้การพร้อมกับทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวันที่ให้การโดยคำให้การฉบับแรกจากวันที่ 29 ก.พ.2559 เป็นวันที่ 26 ก.พ.2559 และคำให้การฉบับที่สองจากวันที่ 6 มี.ค.59 มาเป็น 1 มี.ค.59 ให้ พ.ต.อ. ธ. ลงลายมือชื่อ เป็นหลักฐานเพื่อนำส่งให้แก่พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป
ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณารายงานผลการพิจารณาตรวจลอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน นาย ว. ขอความเป็นธรรมกรณีการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ ต่อคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา
จำเลยที่ 1 ควรใช้อำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีการชี้ขาดหรือเลือกปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 1 กลับอ้างข้อมูลในเหตุการณ์สอบปากคำเพิ่มเติม พันตำรวจเอก ธ. มิชอบดังกล่าวที่ตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย เพื่อสนับสนุนการร้องขอความเป็นธรรมให้กับนาย ว. การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยมีเจตนามุ่งเพื่อจะช่วยเหลือนาย ว. ผู้ต้องหา ซึ่งถูกกล่าวหากระทำผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง อันเป็นการมิชอบต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พันตำรวจเอก ธ. ญาติของ ดาบตำรวจ ว. ผู้ตายและบุคคลหรือประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ 8 ขณะนั้นเป็นพนักงานอัยการ รักษาการตำแหน่งรองอัยการสูงสุดได้อาศัยโอกาสที่ตนได้รับมอบหมายและมอบอำนาจ ให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดในงานด้านคดีร้องขอความเป็นธรรมตามคำสั่งอัยการสูงสุดที่ 1515/2562 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีอำนาจพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม ที่ยื่นต่อพนักงานอัยการเป็นครั้งที่ 14 ในคดีที่นาย ว. ผู้ต้องหาในข้อหาความผิดขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม พลอากาศโท จ. และนาย จ. เมื่อได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจำเลยที่ 8 ได้ใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องนาย ว. ผู้ต้องหาคดีดังกล่าว
ทั้งที่ผลการตรวจสอบสถานที่ ผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รายงานการตรวจสภาพรถคันเกิดเหตุ รายงานการเก็บวัตถุพยาน ภาพถ่ายประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ และภาพถ่ายรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ พยานใกล้ชิดเหตุการณ์ ปากนาย จ. ซึ่งความเห็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้และอดีตอัยการสูงสุด หรืออดีตรองอัยการสูงสุด ได้วินิจฉัยพยานไว้ก่อนโดยละเอียดแล้วว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งปรากฏการพิสูจน์ความเร็วของนาย ว. ขับขี่ ความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะนำนาย ว. ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
แต่จำเลยที่ 8 กลับพิจารณาอาศัยพยานปาก พลอากาศโท จ. ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุนานกว่า 2 ปีเศษ และพยานผู้เชี่ยวชาญอื่น อันเป็นการเลือกหยิบยกพยานหลักฐานดังกล่าวมาพิจารณา ทั้งที่อดีตอัยการสูงสุดและอดีตรองอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ก่อนแล้วว่าไม่ควรนำมารับฟังเนื่องจากไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
โดยจำเลยที่ 8 มิได้ให้เหตุผลหักล้างหรือแสดงผลเป็นอย่างอื่น และไม่รับฟังพยานหลักฐานอื่นในสำนวนที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ อันเป็นการวินิจฉัยมูลความผิด โดยใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจด่วนวินิจฉัยคดีเสียเอง มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างที่พนักงานอัยการพึงใช้ อันผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการโดยทั่วไป เป็นการกระทำการมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อจะช่วยนาย ว. ผู้ต้องหามิให้ต้องโทษหรือรับโทษน้อยลงอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด ญาติของดาบตำรวจ ว. ผู้ตาย และผู้อื่นหรือประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เหตุตามฟ้องเกิดที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร, อาคารรัฐสภา (หลังเก่า) ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร, สำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารถนนแจ้งวัฒนะ) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ในชั้นไต่สวน จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดมีมูลความผิดทางอาญาตามข้อกล่าวหา และได้ส่งรายงาน เอกสาร พร้อมความเห็นมายังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดี โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งแปดเป็นคดีนี้ ในการฟ้องคดีนี้ อัยการสูงสุด มีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีจนคดีถึงที่สุด
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้พิจารณา เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท. 131/2567 ให้จำเลยทั้งแปดแต่งตั้งทนายความ และให้นัดสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งแปดและมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งแปดออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อดีตอัยการอาวุโส รับช่วย ‘บอส อยู่วิทยา’ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้ซักบาท
- ‘สมยศ’ ได้ประกันตัว คดีช่วย ‘บอส อยู่วิทยา’ ตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ
- ‘สมยศ’ รับกังวล หลังเข้าพบอัยการคดีช่วย ‘บอส อยู่วิทยา’ ซิ่งชนตำรวจดับ