‘ประเพณีตักบาตรขนมครก’ เที่ยวเพลินสมุทรสงคราม อิ่มบุญอิ่มท้อง
เที่ยวสมุทรสงคราม ‘ประเพณีตักบาตรขนมครก’ หนึ่งเดียวในไทย ณ จังหวัดสมุทรสงคราม สะท้อนวัฒนธรรมอันงดงามแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครบจบในทริปเดียว อิ่มบุญอิ่มท้อง ควบอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
ท่ามกลางสายน้ำและวิถีชีวิตริมคลองจังหวัดสมุทรสงคราม นับเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาดสำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในวัฒนธรรมไทยและประเพณีท้องถิ่นอันงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จังหวัดแห่งนี้จะมีการจัดประเพณีที่เรียกว่า “ตักบาตรขนมครก” ประเพณีสุดเก่าแก่ที่ถ่ายทอดมนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิตในอดีตออกมาได้อย่างลึกซึ้งและเปี่ยมไปด้วยคุณค่าแก่คนรุ่นหลัง
‘ตักบาตรขนมครก’ หนึ่งเดียวในไทย อิ่มบุญไม่เหมือนที่ไหน
เรื่องราวเริ่มต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงจัดพระราชพิธีสิบสองเดือน โดยหนึ่งในนั้นคือการเลี้ยงขนมเบื้องแด่พระสงฆ์ ประเพณีนี้ดำเนินสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
กระทั่งช่วงปลายรัชสมัย ตอนนั้น พ.ศ. 2473 ชาวบ้านส่วนใหญ่มักมีฐานะยากจน การทำบุญจึงมักเป็นอาหารคาวง่าย ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น แต่พระครูสุนทรสุตกิจ (หลวงปู่โห้) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ได้เล็งเห็นว่าขนมครกเป็นขนมที่ทำง่าย ราคาถูก และใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในครัวเรือน จึงได้ริเริ่มประเพณีตักบาตรขนมครกขึ้นตั้งแต่บัดนั้น เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสทำบุญ แม้จะมีทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยก็ตาม
การตักบาตรขนมครกที่วัดแก่นจันทร์เจริญ จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำบุญที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ แต่ยังมีรากฐานมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในธรรมบทภาคที่ 2 เรื่อง “โกสิยะเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ถี่เหนียว” ที่มุ่งสอนให้รู้จักการเสียสละและแบ่งปัน
เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งเศรษฐีเห็นยาจกคนหนึ่งกำลังกินขนมครกจึงอยากกินบ้าง แต่ด้วยความที่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวจึงยอมอดกลั้นความอยากกินนั้นไว้ ด้วยเกรงว่าจะสิ้นเปลืองเงินทอง แต่เมื่อภรรยาทราบว่าสามีอยากกินขนมครกจึงแอบทำขนมครกโดยไม่ให้ใครรู้เพื่อจะได้ให้สามีกินเพียงคนเดียวต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงตรัสให้พระโมคคัลลานะ เดินทางไปอบรมสั่งสอนเศรษฐีผู้นี้ และภรรยาด้วยการแสดงพระธรรมของพระรัตนตรัยทั้งสาม พร้อมแสดงผลทาน ซึ่งเมื่อเศรษฐี และภรรยาได้ฟังก็มีจิตเลื่อมใสขึ้นมาทันที ตั้งแต่บัดนั้นเศรษฐี และภรรยาคู่นี้ก็เปลี่ยนนิสัยกลายเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แต่นั้นมา
จวบจนวันนี้ “ประเพณีตักบาตรขนมครก” จึงเป็นที่รู้จักในฐานะของการเป็นประเพณีที่ผสมผสานระหว่างความศรัทธาในพุทธศาสนากับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างลงตัว ซึ่งชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมขนมครก ซึ่งเป็นขนมไทยโบราณที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิ จากนั้นนำไปหยอดลงในกระทะเหล็กรูปทรงวงกลมเล็ก ๆ และย่างจนสุกหอม เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์จะออกบิณฑบาต ชาวบ้านก็จะยืนรอถวายขนมครก ซึ่งประเพณีตักบาตรขนมครกจะจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ในขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี
ประเพณีนี้แสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชน การอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น สืบทอดภูมิปัญญาการทำขนมไทยโบราณ ณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้กับชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย
ประเพณีตักบาตรขนมครก ณ วัดแก่นจันทน์เจริญ
เป็นระยะเวลาเกือบ 100 ปีมาแล้วที่ประเพณีตักบาตรขนมครกดำรงอยู่เคียงคู่กับวิถีชีวิตของชาวพื้นถิ่น และก็เป็นประจำอีกเช่นเคยที่วัดแก่นจันทน์เจริญ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม จะจัดเตรียมจัดประเพณีตักบาตรขนมครกขึ้นอีกครั้ง
ในปี 2567 วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 งานประเพณี “โครงการสืบสานประเพณีทำบุญตักบาตรขนมครก-น้ำตาลทราย” จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 06.00-11.00 น. โดยประมาณ ณ ลานวัดแก่นจันทน์เจริญ
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารการจัดงานประเพณีตักบาตรขนมครกได้ทางเพจเฟซบุ๊ก องค์การบริหารส่วนตำบลบางพรม
เชิญชวนสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยว จ.สมุทรสงคราม
นอกเหนือจากการร่วมทำบุญตักบาตรแล้ว นักท่องเที่ยวทุกท่านยังสามารถเพลิดเพลินไปกับการชิมขนมครกรสชาติดั้งเดิม เรียนรู้วิธีการทำขนมครกจากชาวบ้าน และสัมผัสวิถีชีวิตริมน้ำอันเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่เพียงแค่การไปเยือนสถานที่ใหม่ ๆ เป็นการเติมเต็มจิตใจด้วยประสบการณ์อันล้ำค่าและความทรงจำที่จะอยู่กับคุณไปตลอดกาล
มาร่วม “อิ่มบุญ อิ่มท้อง และอิ่มใจ” ไปพร้อม ๆ กันที่สมุทรสงคราม จังหวัดเล็ก ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งวิถีไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดที่มา ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว จุฬาฯ ประเพณีที่สานต่อกันรุ่นสู่รุ่น
- 8 ประเทศสวรรค์บนดิน เหมาะเที่ยวช่วงปลายปี แต้มสีสันโลกต่างฤดู
- เที่ยวตรุษจีน จ.นครสวรรค์ 2567 เช็กพิกัด แห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ