ข่าว

รู้จัก 5 ระบบป้องกันขีปนาวุธ ‘อิสราเอล’ สกัดมิสไซล์ ‘อิหร่าน’ กว่า 300 ลูก

วันนี้ 14 เมษายน 2567 อิสราเอลเผชิญกับการโจมตีจากอิหร่านด้วยฝูงโดรนและขีปนาวุธกว่า 300 ลูก นับเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอล ที่คอยสะกัดกั้นการโจมตีให้ประเทศพ้นภัยความพินาศ วันนี้ Thaiger ของพามาดูว่า อิสราเอลมีระบบป้องกันขั้นสูงอะไรบ้าง ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และอังกฤษ ช่วยลดความเสียหายและการบาดเจ็บล้มตายในครั้งนี้

1. ระบบ Arrow

ระบบนี้พัฒนาร่วมกันกับสหรัฐฯ เพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธพิสัยไกล รวมถึงขีปนาวุธนำวิถีที่อิหร่านยิงโจมตีล่าสุดด้วย Arrow สามารถปฏิบัติงานนอกชั้นบรรยากาศโลก และเคยใช้ในการรับมือขีปนาวุธพิสัยไกลจากกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบ MIM-104 Patriot ที่ใช้กันทั่วไป

Advertisements

โครงการร่วมระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอเมริกานี้ เริ่มพัฒนาในปี 1986 จนถึงปัจจุบัน โดย MALAM ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Israel Aerospace Industries (IAI) และบริษัทโบอิ้งภายใต้การดูแลของ “Homa” กระทรวงกลาโหมอิสราเอล และ Missile Defense Agency ของสหรัฐฯ

ระบบ Arrow ถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันอิสราเอลแบบหลายชั้น ร่วมกับระบบ David’s Sling (พิสัยกลางถึงไกล), Iron Dome และ Iron Beam (พิสัยสั้น)

ส่วนประกอบของระบบ Arrow

  • ขีปนาวุธสกัดกั้นความเร็วเหนือเสียง Arrow 2 และ Arrow 3 ร่วมผลิตโดยอิสราเอลและสหรัฐฯ
  • เรดาร์เตือนภัยล่วงหน้า Elta EL/M-2080 “Green Pine” และ “Great Pine”
  • ศูนย์บัญชาการควบคุม Elisra “Golden Citron”
  • ศูนย์ควบคุมการยิง Israel Aerospace Industries “Brown Hazelnut”
  • ระบบสามารถเคลื่อนย้ายไปยังจุดยุทธศาสตร์อื่น ๆ ได้

Arrow 2 เป็นขีปนาวุธรุ่นแรก เริ่มใช้งานจริงหลังจากการทดลองประสบความสำเร็จ ถือเป็นหนึ่งในระบบป้องกันขีปนาวุธที่ทันสมัยที่สุดในโลก เป็นระบบแรกที่ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นและทำลายขีปนาวุธพิสัยไกลโดยเฉพาะ กองกำลัง Protective Sword ภายใต้กองทัพอากาศอิสราเอล เริ่มใช้ระบบ Arrow อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2000

Arrow 3 เป็นระบบป้องกันในชั้นบรรยากาศนอกโลก เริ่มใช้งานเมื่อ 18 มกราคม 2017 มีความเร็ว ระยะทำการ และสามารถยิงสกัดกั้นในระดับความสูงที่เหนือกว่า Arrow 2 ขีปนาวุธรุ่นนี้อาจถูกนำมาใช้ในการโจมตีดาวเทียมได้ โดยประธานหน่วยงานอวกาศของอิสราเอลเคยกล่าวไว้ว่าระบบนี้จะทำให้อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีศักยภาพดังกล่าว

Advertisements

2. David’s Sling

ระบบ David’s Sling หรือเดิมมีชื่อว่า Magic Wand ใช้วิธีสกัดขีปนาวุธพิสัยปานกลาง พัฒนาโดย Rafael Advanced Defense Systems ของอิสราเอลร่วมกับสหรัฐอเมริกา ระบบนี้เริ่มใช้งานครั้งแรกในปี 2017 โดยกองกำลังป้องกันประเทศของอิสราเอล

David’s Sling ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามหลากหลาย ทั้งเครื่องบินรบ โดรน ขีปนาวุธพิสัยใกล้ถึงกลาง รวมไปถึงขีปนาวุธนำวิถีที่ยิงมาจากระยะ 40 ถึง 300 กิโลเมตร ระบบนี้จะมาทดแทน MIM-23 Hawk และ MIM-104 Patriot ที่ใช้งานในกองทัพอิสราเอลอยู่เดิม

เทคโนโลยี

  • ขีปนาวุธ Stunner หัวใจของระบบออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธพิสัยไกลรุ่นใหม่ล่าสุดที่บินในระดับความสูงต่ำ เช่น Iskander ของรัสเซีย และ DF-15 ของจีน ขีปนาวุธนี้ใช้เซ็นเซอร์คู่ CCD/IR ในการแยกแยะหัวรบจริงออกจากเป้าลวง และมีการติดตามวิถีการบินเพิ่มเติมจากเรดาร์ Elta EL/M-2084
  • David’s Sling เป็นขีปนาวุธสกัดกั้นแบบหลายขั้นตอน อาศัยบูสเตอร์เชื้อเพลิงแข็งในการขับเคลื่อนส่วนแรก ตามด้วยหัวรบเคลื่อนที่แบบอสมมาตรที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในระยะเตรียมโจมตี ระบบมอเตอร์แบบสามจังหวะให้ความเร่งและความสามารถในการปรับทิศทางได้ดีเยี่ยมในช่วงท้ายก่อนถึงเป้าหมาย

3. Patrio

MIM-104 Patriot คือระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ (SAM) ใช้สะกัด เครื่องบินและโดรน เป็นอาวุธหลักประจำการกองทัพสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรหลายประเทศ ผลิตโดย Raytheon บริษัทรับเหมาด้านกลาโหมชั้นนำของสหรัฐฯ

ชื่อของระบบนี้มีที่มาจากส่วนประกอบเรดาร์หลัก ซึ่งย่อมาจาก “Phased Array Tracking Radar to Intercept on Target” และกลายเป็นคำว่า “Patriot” ในภายหลัง ระบบ Patriot เริ่มเข้ามาแทนที่ระบบ Nike Hercules ในฐานะระบบป้องกันภัยทางอากาศระดับสูง-กลาง (HIMAD) หลักของกองทัพสหรัฐฯ เมื่อปี 1984 และเข้ามาแทนที่ระบบ MIM-23 Hawk ในฐานะระบบป้องกันภัยทางอากาศยุทธวิธีระยะกลาง

ปัจจุบัน คาดว่าระบบนี้จะยังคงประจำการต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2040

Patriot มีจุดเด่นประกอบด้วยขีปนาวุธสกัดกั้นทางอากาศอันทันสมัยร่วมกับระบบเรดาร์ประสิทธิภาพสูง ระบบได้รับการพัฒนา ณ ศูนย์วิจัย Redstone Arsenal ในเมืองฮันต์สวิลล์ รัฐอลาบาม่า ซึ่งเดิมทีคือแหล่งพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธ Safeguard รวมถึงส่วนประกอบอย่างขีปนาวุธ Spartan และ Sprint ความเร็วเหนือเสียง สัญลักษณ์ของระบบ Patriot คือภาพนักรบ Minutemen ในยุคปฎิวัติอเมริกา

ระบบ MIM-104 Patriot ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายโดยกองทัพชาติต่างๆ เช่น อิสราเอล ถือเป็นหนึ่งในระบบแรกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติเต็มรูปแบบในการรบ ระบบ Patriot ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นขีปนาวุธของอิรักในสงครามอิรักปี 2003 และยังถูกใช้งานโดยกองทัพซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธของกลุ่ม Houthi ในสงครามเยเมน

ขณะเดียวกัน ระบบ Patriot ประสบความสำเร็จในการยิงสกัดอากาศยานข้าศึกได้เป็นครั้งแรกในการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังป้องกันทางอากาศอิสราเอล เมื่อแบตเตอรี่ขีปนาวุธ MIM-104D ของอิสราเอลสามารถยิงทำลายโดรนของกลุ่มฮามาส และยิงเครื่องบินรบ Sukhoi Su-24 ของกองทัพซีเรียที่รุกล้ำเขตน่านฟ้าบริเวณที่ราบสูงโกลันได้สำเร็จ

4. Iron Dome

โดมเหล็ก (Iron Dome) คือระบบป้องกันภัยทางอากาศที่อิสราเอลพัฒนาขึ้นเองโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ถนัดในการสกัดกั้นจรวดพิสัยใกล้ เคยใช้งานสกัดจรวดมาแล้วหลายพันลูกนับตั้งแต่เริ่มใช้งานเมื่อสิบปีก่อน รวมถึงจรวดมากมายที่กลุ่มฮามาสและเฮซบอลเลาะห์ยิงใส่ในช่วงสงครามปัจจุบัน อิสราเอลเคลมอัตราความสำเร็จในการสกัดกั้นสูงกว่า 90%

นับตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2021 สหรัฐฯ ได้สนับสนุนเงินให้โครงการโดมเหล็กเป็นจำนวนกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเพิ่งได้รับการอนุมัติเพิ่มอีก 1 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 นี้เอง

ระบบโดมเหล็กเริ่มใช้งานจริงครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2011 ใกล้กับเมืองเบียร์เชบา และในวันที่ 7 เมษายน 2011 ก็สามารถสกัดกั้นจรวดที่ยิงจากฉนวนกาซาได้สำเร็จ

เมื่อ 10 มีนาคม 2012 หนังสือพิมพ์ The Jerusalem Post รายงานว่าโดมเหล็กสามารถยิงสกัดจรวดที่จะพุ่งถล่มเขตชุมชนได้มากถึง 90%

ในช่วงปลายปี 2012 อิสราเอลตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพของโดมเหล็กให้ยิงสกัดได้ไกลจากเดิมที่ 70 กิโลเมตร เป็น 250 กิโลเมตร รวมถึงจะเพิ่มความสามารถในการยิงสกัดจรวดที่มาจากสองทิศทางพร้อมกันได้ด้วย

5.Iron Beam

เทคโนโลยีล่าสุด อิสราเอลกำลังพัฒนาระบบสกัดกั้นภัยคุกคามด้วยเลเซอร์ ซึ่งถือว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์เพราะมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่ถูกกว่าระบบเดิมมาก แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button