ข่าวข่าวต่างประเทศ

อิหร่าน ล้างแค้น ‘อิสราเอล’ ยิงถล่มขีปนาวุธ-โดรน 200 ลูก ตะวันออกกลางวิกฤต

สรุปเหตุการณ์ สงครามล้างแค้น อิหร่านโจมตีประเทศอิสราเอล กระหน่ำยิงขีปนาวุธและโดรน กว่า 200 ลูก สถานการณ์ตะวันออกกลางวิกฤต

วันนี้ 14 เมษายน 2567 เช้ามืดตามเวลาประเทศไทย AP รายงานเกิดเสียงระเบิดและไซเรนโจมตีทางอากาศดังกระหึ่มทั่วอิสราเอลในช่วงเช้าตรู่วันอาทิตย์ หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีเพื่อแก้แค้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยการยิงโดรน ขีปนาวุธนำวิถี และขีปนาวุธล่องไกลหลายร้อยลูก ส่งผลให้ตะวันออกกลางเข้าใกล้ภาวะสงครามเต็มรูปแบบ

แม้ความเป็นปรปักษ์ระหว่างสองประเทศจะมีมายาวนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 แต่นี่เป็นครั้งแรกที่อิหร่านเปิดฉากโจมตีทางทหารต่ออิสราเอลโดยตรง ผู้นำสหประชาชาติและนานาประเทศออกมาประณามการกระทำนี้โดยทันที ฝรั่งเศสระบุว่าอิหร่าน “เสี่ยงต่อการยกระดับความรุนแรงทางทหาร” ด้านอังกฤษเรียกการโจมตีนี้ว่า “บ้าบิ่น” และเยอรมนีเรียกร้องให้อิหร่านและกองกำลังตัวแทน “หยุดการกระทำนี้โดยทันที”

โฆษกกองทัพอิสราเอล พลเรือตรีแดเนียล ฮาการี แถลงว่าอิหร่านได้ยิงโดรนหลายสิบลูก ขีปนาวุธล่องไกล และขีปนาวุธนำวิถี โดยส่วนใหญ่ถูกสกัดกั้นนอกเขตแดนอิสราเอล เครื่องบินรบของอิสราเอลยังสกัดกั้นขีปนาวุธล่องไกลกว่า 10 ลูกก่อนที่มันจะเข้าเขตน่านฟ้า

แผนที่ประเทศอิสราเอล
แผนที่ประเทศอิสราเอล

ฮาการีกล่าวว่ามีขีปนาวุธจำนวนหนึ่งที่หลุดเข้ามาในอิสราเอล มีเด็กหญิงวัย 7 ขวบในเมืองเบดูอินอาหรับทางตอนใต้ของอิสราเอลได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ ฮาการียังยืนยันว่าขีปนาวุธลูกหนึ่งได้โจมตีฐานทัพ ทำให้เกิดความเสียหายเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

“การโจมตีครั้งใหญ่ของอิหร่านถือเป็นการยกระดับความรุนแรงครั้งสำคัญ” ฮาการีกล่าว เมื่อถูกถามว่าอิสราเอลจะตอบโต้หรือไม่ ฮาการีกล่าวเพียงว่ากองทัพ “ได้ทำและจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐอิสราเอล” เขาย้ำว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่จบลง และเครื่องบินรบอิสราเอลหลายสิบลำยังคงบินอยู่บนท้องฟ้า

กองทัพสหรัฐฯ ได้ยิงโดรนที่อิหร่านยิงเข้ามาโจมตีอิสราเอลบางส่วนตก ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกสองนายที่ไม่ประสงค์ออกนาม กองทัพอิสราเอลระบุว่า ระบบ Arrow ซึ่งใช้ยิงสกัดขีปนาวุธนอกชั้นบรรยากาศ สามารถสกัดขีปนาวุธส่วนใหญ่ได้ และมี “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ระบบป้องกันภัยทางอากาศไอรอนโดมของอิสราเอลยิงสกัดขีปนาวุธจากอิหร่าน ในภาคกลางของอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ 14 เมษายน 2567(AP Photo/Tomer Neuberg)

สำนักงานนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลกล่าวว่าเขากำลังหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการสนทนาออกมา โดยก่อนหน้านี้ ไบเดนเคยประกาศกร้าวว่าจะสนับสนุนความมั่นคงของอิสราเอลอย่างไม่ย่อท้อ ท่ามกลางภัยคุกคามจากอิหร่าน ซึ่งต่างจากท่าทีวิจารณ์อย่างรุนแรงกรณีที่อิสราเอลรับมือกับสงครามในฉนวนกาซ่า

อิหร่านประกาศล้างแค้นนับตั้งแต่การโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 1 เมษายนในซีเรีย ที่สังหารนายพลชาวอิหร่านสองนายภายในอาคารกงสุลอิหร่าน โดยอิหร่านกล่าวหาว่าอิสราเอลคือผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตี แต่ฝั่งอิสราเอลยังไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

อิสราเอลและอิหร่านตกอยู่ในเส้นทางชนกันตลอดช่วงสงครามหกเดือนระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซา สงครามปะทุขึ้นหลังจากที่ฮามาสและอิสลามิก ญิฮาด ซึ่งเป็นสองกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุน เปิดฉากโจมตีข้ามพรมแดนอย่างหนัก ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิต 1,200 คน และมีผู้ถูกลักพาตัวอีก 250 คน ขณะที่ฝั่งอิสราเอลบุกโจมตีฉนวนกาซาอย่างรุ่นแรง จนก่อความเสียหายอย่างกว้างขวางและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 33,000 คน ตามตัวเลขของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่น

ประชาชนอิหร่านชูสัญลักษณ์ชัยชนะในขณะที่ถือธงชาติอิหร่านและโมเดลกระสุนปืน ระหว่างการชุมนุมต่อต้านอิสราเอลที่จัตุรัสเฟเลสติน (ปาเลสไตน์) กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2567 (AP Photo/Vahid Salemi)

กลุ่มติดอาวุธในเลบานอน โจมตีตอนเหนือของอิสราเอล

เกือบจะทันทีหลังสงครามปะทุขึ้น กลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยอิหร่าน ก็เริ่มโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล ส่งผลให้เกิดการยิงปะทะกันรายวัน ขณะที่กลุ่มติดอาวุธในอิรัก ซีเรีย และเยเมน ซึ่งอิหร่านให้การสนับสนุน ได้ยิงจรวดและขีปนาวุธเข้าใส่อิสราเอลเช่นกัน

สำนักข่าว IRNA ของอิหร่านรายงานว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านยอมรับว่าได้ยิงโดรนและขีปนาวุธหลายสิบลูกเข้าสู่ดินแดนที่ถูกยึดครองและฐานที่มั่นของระบอบไซออนิสต์ (หมายถึงอิสราเอล) นอกจากนี้ยังออกคำเตือนโดยตรงไปยังสหรัฐฯ ว่า “รัฐบาลก่อการร้ายสหรัฐฯ จะต้องได้รับการตอบโต้ที่เด็ดขาดและสร้างความเสียใจจากกองทัพอิหร่าน หากการสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมใดๆ ในการทำร้ายผลประโยชน์ของอิหร่านเกิดขึ้น”

IRNA ยังอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่นิรนามว่าขีปนาวุธนำวิถีเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีด้วย โดยขีปนาวุธจะเคลื่อนที่เป็นวิถีโค้ง พุ่งขึ้นสู่อวกาศก่อนที่แรงโน้มถ่วงจะดึงมันลงมาด้วยความเร็วเหนือเสียงหลายเท่า

อิสราเอลมีระบบป้องกันภัยทางอากาศหลายชั้นที่สามารถสกัดกั้นภัยคุกคามได้หลายรูปแบบ ทั้งขีปนาวุธระยะไกล ขีปนาวุธล่องไกล โดรน และจรวดระยะสั้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่ใช้ทั้งโดรนและขีปนาวุธหลายลูก ความเป็นไปได้ที่บางส่วนจะสามารถเจาะแนวป้องกันผ่านไปได้ก็มีสูงขึ้น

อิหร่านมีคลังแสงโดรนและขีปนาวุธขนาดใหญ่ โดยวีดีโอที่เผยแพร่โดยทีวีของรัฐบาลอิหร่านแสดงให้เห็นโดรนปีกสามเหลี่ยมคล้ายกับ Shahed-136 ที่กองทัพรัสเซียใช้มานานแล้วในสงครามยูเครน โดรนรุ่นนี้บินช้าและบรรทุกระเบิด ซึ่งยูเครนใช้อย่างได้ผลทั้งขีปนาวุธพื้นสู่อากาศและการยิงจากภาคพื้นดินในการทำลายโดรนเหล่านี้

รายงานไซเรนแจ้งเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นทั่วบริเวณ รวมทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของอิสราเอล ทางเหนือของเขตเวสต์แบงก์ และทะเลเดดซีใกล้พรมแดนจอร์แดน

ประชาชนอิหร่านถือป้ายภาพพลเอกโมฮัมหมัด ฮาดี ฮัจญ์ เราะฮิมี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติที่เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ทำลายสถานกงสุลอิหร่านในซีเรียเมื่อวันที่ 1 เมษายน ระหว่างการชุมนุมต่อต้านอิสราเอลที่จัตุรัสเฟเลสติน (ปาเลสไตน์) กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน (AP Photo/Vahid Salemi)

กองทัพอิสราเอลสั่งให้ชาวเมืองในบริเวณที่ราบสูงโกลันใกล้กับพรมแดนซีเรียและเลบานอน รวมทั้งเมืองทางใต้ของเนวาติมและดิโมนา รวมถึงเมืองตากอากาศริมทะเลแดงอย่างเอลัต ให้หลบภัยในพื้นที่ป้องกัน ดิโมนาเป็นที่ตั้งของโรงงานนิวเคลียร์หลักของอิสราเอล ส่วนเนวาติมมีฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ เสียงระเบิดดังกึกก้องทั่วกรุงเยรูซาเล็มและทั่วบริเวณทางตอนเหนือและตอนใต้ของอิสราเอล

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ประกาศว่าระบบป้องกันของอิสราเอลพร้อมแล้ว หลังจากอิหร่านยิงโดรนและขีปนาวุธเป็นจำนวนมากในวันเสาร์ที่ผ่านมา

ทางด้านกองบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศสั่งปิดโรงเรียนในวันอาทิตย์และจำกัดการชุมนุมในที่สาธารณะให้มีไม่เกิน 1,000 คน ขณะที่อิสราเอลและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ปิดน่านฟ้า

ก่อนหน้านี้ เนทันยาฮู ออกคำเตือนว่า “ใครก็ตามที่ทำร้ายเรา เราจะทำร้ายพวกเขา”

(AP Photo/Vahid Salemi)

สหรัฐเรียกประชุมด่วน จับตา สงครามอิหร่าน-อิสราเอล

ในกรุงวอชิงตัน ประธานาธิบดีไบเดนได้เรียกประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหลักเพื่อหารือเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้

พลเอกอีริก คูริลลา ผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางของสหรัฐฯ เดินทางมาอิสราเอลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์เพื่อปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่กลาโหมของอิสราเอล โดยกองบัญชาการกลางมีหน้าที่ดูแลกองกำลังสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง

สถานทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติเตือนทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ ว่า “หากระบอบการปกครองของอิสราเอลทำความผิดพลาดอีกครั้ง การตอบโต้ของอิหร่านจะรุนแรงขึ้นมาก” พร้อมย้ำว่า “นี่คือความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับระบอบการปกครองเถื่อนของอิสราเอล ซึ่งสหรัฐฯ จะต้องอยู่ห่างๆ!”

(Adam Schultz/The White House via AP)

ทางการอิหร่านรวมถึงผู้นำสูงสุดอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ได้ข่มขู่ว่าจะ “ตบหน้า” อิสราเอลเพื่อตอบโต้การโจมตีในซีเรียมาหลายวันแล้ว

ในกรุงเตหะรานของอิหร่าน มีการต่อแถวยาวที่ปั๊มน้ำมันในช่วงเช้าวันอาทิตย์ เนื่องจากผู้คนดูเหมือนจะกังวลต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนแนวทางฮาร์ดไลน์จำนวนหนึ่งยังออกมาชุมนุมสนับสนุนการโจมตี ณ จัตุรัสปาเลสไตน์อีกด้วย

สำนักข่าวของรัฐในเลบานอนรายงานการโจมตีทางอากาศและการยิงปืนใหญ่ครั้งใหญ่ของอิสราเอลในหลายพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน หลังจากอิหร่านยิงโดรนโจมตี ขณะที่กลุ่มติดอาวุธอย่างเฮซบอลเลาะห์ก็ยิงจรวดคาทยูชาหลายสิบลูกเข้าใส่ฐานทัพอิสราเอลในที่ราบสูงโกลันเมื่อวันอาทิตย์ ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดความเสียหายหรือไม่

มีรายงานว่าขีปนาวุธและโดรนอิหร่านบางส่วนถูกสกัดกั้นบนท้องฟ้าเหนือกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน ส่วนในกรุงเบรุตและพื้นที่อื่นๆ ในเลบานอนก็มีรายงานจากผู้อยู่อาศัยว่าเห็นขีปนาวุธบนท้องฟ้าและได้ยินเสียงระเบิด ซึ่งน่าจะเกิดจากการสกัดกั้น ในซีเรีย มีเสียงระเบิดดังในกรุงดามัสกัสและที่อื่นๆ โดยหน่วยสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของอังกฤษ รายงานว่า กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียพยายามยิงสกัดการโจมตีของอิสราเอลที่หมายจะทำลายขีปนาวุธอิหร่าน

ประเทศอิสราเอลอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก

อิสราเอล มีพื้นที่ขนาด 22,145 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือฝั่งตะวันตกของทวีปเอเชีย มีพรมแดนติดกับเลบานอน ซีเรีย จอร์แดน อียิปต์ และปาเลสไตน์ เมืองหลวงคือเยรูซาเล็ม แต่การยึดครองพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เมืองเทลอาวีฟเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของประเทศ โดยเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และเทคโนโลยี

พื้นที่ของอิสราเอลในปัจจุบันมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรในดินแดนคานาอัน ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และปาเลสไตน์ ก่อนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของหลายอาณาจักร เช่น อัสซีเรียน บาบิโลน เปอร์เซียกรีก โรมัน ไบแซนไทน์ อาหรับ มัมลุกส์ และออตโตมัน

ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ขบวนการไซออนิสต์ซึ่งเรียกร้องให้ชาวยิวมีประเทศปกครองตนเองได้ถือกำเนิดขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังสงครามโลก อังกฤษซึ่งเดิมควบคุมพื้นที่บริเวณนี้ได้จัดการให้เกิดการอพยพของชาวยิวมาสู่ปาเลสไตน์ ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับชาวอาหรับปาเลสไตน์พื้นเมือง

แผนแบ่งแยกดินแดนขององค์การสหประชาชาติในปี 1947 ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ประกอบกับการประกาศอิสรภาพของอิสราเอลในปี 1948 ก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับรอบข้าง ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากต้องออกจากบ้านเกิดกลายเป็นผู้ลี้ภัย

แผนที่ด้านบนระบุสถานที่ในและใกล้อิสราเอล ซึ่ง IDF ได้ออกคำเตือนเชิงป้องกันแก่ผู้อยู่อาศัยAP Graphic)

ความขัดแย้งที่ยังไม่สิ้นสุด

หลังสงครามกับชาติอาหรับหลายครั้ง อิสราเอลยังคงขยายดินแดนและยึดครองหลายพื้นที่ รวมถึงเขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซ่า เยรูซาเล็มตะวันออก และที่ราบสูงโกลัน แต่สิ่งเหล่านี้ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อิสราเอลได้สร้างถิ่นฐานของชาวยิวในดินแดนที่ยึดครอง แม้จะมีเสียงประณามอย่างต่อเนื่องจากประชาคมโลก

อิสราเอลลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอียิปต์และจอร์แดน รวมทั้งปรับความสัมพันธ์กับชาติอาหรับอื่นๆ ให้ดีขึ้น ทว่าปัญหาหลักกับชาวปาเลสไตน์ยังคงไม่มีทางออก ความพยายามในการแก้ปัญหามีมาหลายครั้งแต่ล้มเหลว ขณะที่การปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอลถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนานาชาติ รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าได้ก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง

อิสราเอลใช้ระบบรัฐสภาโดยมีสภานิติบัญญัติชื่อ Knesset นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล เศรษฐกิจของอิสราเอลแข็งแกร่งมากประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง มีมาตรฐานการครองชีพที่สูง และยังเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีประชากรรวมกันประมาณ 10 ล้านคน

อิสราเอลในแผนที่โลก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ตะวันออกกลาง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button