สส.รัฐบาล คว่ำร่างทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ มติเสียงข้างมาก 252 เสียง ต่อ 149
สส. รัฐบาล คว่ำร่างทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ตีตกร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานพรรคก้าวไกลฉบับ ทำงาน-พักผ่อน-ใช้ชีวิต
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วานนี้ (6 มี.ค.67) วาระสำคัญการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 4 ฉบับ ที่นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก
ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยนายเซียนั้น มีสาระสำคัญ เช่น การเพิ่มคำนิยามการจ้างงานรายเดือน, การให้การจ้างงานมีความเท่าเทียมทุกด้าปฏิบัติต่อน และให้นายจ้างลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ
รวมถึง การแก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ เว้นแต่เป็นงานอันตราย ที่จะต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง
พร้อมเพิ่มบทบัญญัติที่นายจ้างจะต้องจ้างงานเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่งานที่มีความเฉพาะไม่มีความต่อเนื่อง หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างงานแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับ ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และให้ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับพนักงานระบบอื่นของนายจ้าง
นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 10 วันต่อปี และมีสิทธิให้ลูกจ้าง มีสิทธิลาไปดูแลครอบครัวที่ป่วยได้ปีละไม่เกิน 15 วัน รวมถึงจะต้องมีห้องให้นมบุตร หรือเก็บน้ำนมในที่ทำงาน
พร้อมการแก้ไขหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างให้เหมาะต่อค่าครองชีพ และเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามการประกาศของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปลี่ยนชีวิตแรงงานให้ “มีเวลาทำงาน พักผ่อน และใช้ชีวิต”
อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้ง 3 ฉบับ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 252 เสียง ต่อ 149 เสียง “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายเซีย
และมีมติ “รับหลักการ” ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดย น.ส.วรรณวิภา “ด้วยมติเอกฉันท์ 394 เสียง”
รวมทั้งมีมติเอกฉัน 401 เสียง ให้ “รับหลักการ” ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายวรศิษฏ์ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาปรับแก้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 พิจารณาตามขั้นตอนอีกครั้ง โดยให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยนายวรศิษฎ์ พรรคภูมิใจไทย เป็นร่างหลักในการพิจารณา.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำงาน วันหยุดปีใหม่ ได้ค่าแรงเพิ่มไหม เช็กกฎหมายแรงงาน กันถูกเอาเปรียบ
- เอาให้เขาเอาเปรียบ ลูกจ้าง ลาหยุด ได้กี่วัน ตามกฎหมายแรงงาน
- ส่อง พรบ.น้ำเมา ฉบับใหม่ เพิ่มโทษนักดื่ม นอกเวลา-สถานที่ ฝ่าฝืนปรับอ่วม