‘คัตโตะ’ งานเข้า เจอ ก.ล.ต. เอาผิด หนุนเทรดคริปโตฯ ผิดกฎหมาย
สำนักงาน ก.ล.ต. จ่อเอาผิด คัตโตะ อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล ฐานสนับสนุนกระดานเทรดคริปโต Bybit ผิดกฎหมาย เตรียมส่ง บก.ปอศ. ดำเนินคดี
ก.ล.ต. กล่าวโทษบริษัท Bybit Fintech Limited (Bybit) นายอารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล และนายณธัช คลังเปรมจิตต์ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในความผิดกรณี Bybit กระทำการเข้าข่ายการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแจ้งเบาะแสและตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 Bybit เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ Bybit.com (https://www.bybit.com) ได้ให้บริการจัดระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.1 ของมูลค่าธุรกรรมที่ลูกค้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
และมีการชักชวนและประชาสัมพันธ์เป็นภาษาไทย ให้มาใช้บริการของ Bybit ผ่านเว็บไซต์ Bybit เพจเฟซบุ๊กชื่อ “Bybit Thai” Telegram ชื่อ “Bybit ประกาศภาษาไทย” และ Instagram ชื่อ “bybitthailand” รวมทั้งปรากฏว่า Bybit ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การให้บริการและกิจกรรมส่งเสริมการขายจากนายอารมณ์และนายณธัชผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของบุคคลทั้งสอง ได้แก่ เพจเฟซบุ๊กและ Youtube ชื่อ “ไม่มี Moon หมาไม่ซื้อ” และ Line Open Chat ชื่อ “Stop Loss Club” อันทำให้ Bybit เป็นที่รู้จักและมีบุคคลสนใจไปใช้บริการ Bybit มากขึ้น
การกระทำของ Bybit เข้าข่ายประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่ง Bybit ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 26 อันมีความผิดและระวางโทษตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
สำหรับการกระทำของนายอารมณ์และนายณธัช เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุน Bybit ในการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 26 อันมีความผิดและระวางโทษตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ Bybit นายอารมณ์ และนายณธัช ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
ข้อมูลจาก : สำนักงาน ก.ล.ต.