เปิดภาพชัด ๆ ผลกระทบจาก “กระทงขนมปัง” ทำน้ำเน่า ปลาตายเกือบหมดสระ
พรพรหม ประมวลภาพผลกระทบ หลังคนแห่ลอยกระทงขนมปังที่สวนสันติภาพ กระทบกับสภาพน้ำ ปลาตายเกือบหมดสระ เผยยอดเก็บกระทงทั่วกรุงเทพ ปี 2566 เหยียบ 6 แสนใบ
ควันหลงลอยกระทงคงหนีไม่พ้นปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้หน่วยงานรัฐจะออกมารณรงค์จำกัดการลอยกระทง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลกระทบต่อแม่น้ำลำคลอง หลังผู้คนส่วนหนึ่งลอยกระทงขนมปัง
นายพรพรหมระบุว่า “กระทงขนมปังดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่? คำถามนี้ยังเป็นคำถามที่หลายคนทักหาผมในวันลอยกระทงทุกปี ทุกคนถามเพราะความหวังดี อยากลอยกระทงโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมองว่าปลาทานได้เลยจะไม่มีขยะเหลือ
ขอแชร์ข้อมูลว่าลอยกระทงที่ผ่านมานี้ สวนสันติภาพมีกระทงขนมปังไม่น่าต่ำกว่า 3,000 – 4,000ใบ ซึ่งเปื่อยยุ่ยจมลงก้นบ่อ ละลายไปกับน้ำ ส่งผลกระทบกับสภาพน้ำเป็นอย่างมาก ตอนนี้ปลาตายเกือบหมดสระ และต้องเปลี่ยนน้ำออกทั้งหมดครับ ผู้ใช้สวนก็เริ่มมีร้องเรียนเข้ามาเยอะครับ
ทุกปีคำตอบของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นเหมือนเดิม แต่ขอใช้ภาพเหล่านี้เพื่อเล่าเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกระทงขนมปังครับ”
นายพรพรหมได้ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า สวนสันติภาพพบปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำหนักกว่าสถานที่ลอยกระทงอื่น ๆ เนื่องจากขนาดสระเล็กแต่มีผู้มาลอยกระทงจำนวนมาก โดยสวนสันติภาพ มีปริมาตรน้ำ 2,400 ลบ.ม. แต่มีจำนวนจำนวนกระทงมากถึง 6,810 ใบ คาดว่าเป็นกระทงขนมปังราว 4,000 ใบ เกิน 50% ของจำนวนกระทงทั้งหมด
นอกจากนี้ สถานที่ลอยกระทงอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สวนเบญจกิติ มีปริมาตรน้ำ 640,000 ลบ.ม. มีจำนวนกระทง 5,790 ใบ คาดว่าเป็นกระทงขนมปัง 2,500 ใบ และสวนหนองจอก มีปริมาตรน้ำ 3,600 ลบ.ม. มีจำนวนกระทง 1,544 ใบ คาดว่าเป็นกระทงขนมปัง 800 ใบ
ด้านสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ได้เปิดเผยยอดเก็บกระทงทั่วกรุงเทพมหานครพบว่า เก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งจัดเก็บได้จำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 67,226 ใบ คิดเป็นร้อยละ 11.74
แม้ชาวเน็ตบางส่วนจะเห็นด้วยว่า กระทงขนมปังรวมถึงกระทงที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ล้วนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ชาวเน็ตบางส่วนกลับมองว่า การลอยกระทงเทียบไม่ได้กับของเสียที่มนุษย์ปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง ภาครัฐและหน่วยงานควรเข้ามาตรวจสอบ และมีมาตราแก้ปัญหากับเรื่องนี้มากกว่า