อาลัย หลวงปู่หา สุภโร เกจิดังแห่งกาฬสินธุ์ ละสังขารแล้ว สิริอายุ 99 ปี
ศิษย์แห่อาลัย หลวงปู่หา สุภโร เกจิดังแห่งกาฬสินธุ์ เจ้าอาวาสวัดภูกุ้มข้าว ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 99 ปี ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เฟซบุ๊ก หลวงปู่หา สุภโร โพสต์ข้อความแจ้งข่าวเศร้า ระบุว่า ขอน้อมถวายอาลัยพระเทพมงคลวชิรมุนี (หลวงปู่หา สุภโร) อายุ 99 ปี เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ละสังขารลงอย่างสงบ วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ในเวลา 17.52 น. ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร
ด้านกำหนดการกราบขอขมาสรีระหลวงปู่ จะมีขึ้นในเวลา 20.00 น. ณ บริเวณโถงหน้าห้อง ICU ชั้น 7 โรงพยาบาลวิชัยยุทธตึกเหนือ สรงน้ำสรีระ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 07.00-09.00 น. ณ ห้องพิธีชั้น 1 โรงพยาบาลวิชัยยุทธตึกเหนือ และจะเคลื่อนย้ายสรีระกลับวัดสักกะวัน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เวลา 10.00 น.
สำหรับ หลวงปู่หา สุภโร หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ พระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ที่ชาวเมืองกาฬสินธุ์และคณะศิษยานุศิษย์ทั่วสารทิศต่างเลื่อมใสศรัทธา เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2468 ภูมิลำเนาที่บ้านนาเชือก ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
เมื่อปี 2510 หลวงปู่หาได้พัฒนาวัดสักกะวันด้วยการสร้างอุโบสถ วิหาร เมรุเผาศพ และตัดถนนรอบวัดจำนวน 5 สาย ก่อนจะฝันเห็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่คอยาวเดินอยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว เมื่อตื่นขึ้นจึงให้ลูกศิษย์ไปตรวจสอบ ขณะนั้นฝนตกหนักพื้นดินสูงโดนน้ำเซาะจนเห็นกระดูกชิ้นใหญ่หลายสิบชิ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปจึงสั่งให้คนเก็บกระดูกนั้นไว้และส่งข่าวไปยังนายอำเภอเพื่อตรวจสอบ
ต่อมาในวันที่ 10 กันยายน 2537 เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีเข้ามาตรวจสอบบริเวณร่องน้ำ ข้างถนนเชิงเขาภูกุ้มข้าว ขุดพบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ จากการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา ภายหลังตั้งชื่อว่าอีสานโนซอรัสสิรินธรเน่ และมีการขอขุดค้นเพิ่มเติม ปัจจุบันคืออาคารหลุมขุดค้นไดโนเสาร์พระญาณวิสาลเถร เพื่อเป็นอนุสรณ์
หลังจากคุ้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์แล้ว ยังมีการรวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วสารทิศมารวมที่วัดสักกะวัน และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปี ได้รับพระราชทานนามว่าพิพิธภัณฑ์สิรินธร ในปัจุบัน