ข่าว

อย่าหาทำ เจลซ่อมฟัน ทำเองได้ที่บ้าน แต่เสี่ยงเกิดปัญหาช่องปากเพียบ

ไวรัลใหม่มาอีกแล้ว เจลซ่อมฟัน สำหรับสร้างฟันปลอมขึ้นมาใหม่ ทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน โซเชียลแห่เตือน เจลไม่กี่บาท แต่อาจได้ไปเสียค่ารักษาใหม่เป็นล้าน

นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีจนถึงยุคโรคระบาดโควิด-19 ประชาชนในสังคมไทยต่างมีลูกเล่นและคอนเทนต์ใหม่ ๆ เป็นไวรัลเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุด กระแสนิยมที่ทำให้บรรดาแพทย์ พยาบาลต้องกุมขมับอีกครั้ง สืบเนื่องจากวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ (X) เผยแพร่คลิปวิดีโอจากแพลตฟอร์ม TikTok เผยให้เห็นวิธีการทำฟัน โดยใช้เจลซ่อมฟัน

ภายในคลิปวิดีโอเผยให้เห็นเจลใส ลักษณะนิ่ม คล้ายกับแบะแซ โดยบุคคลในคลิปวิดีโอนำเจลใสซ่อมฟันมาปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ จากนั้นนำไปอุดบริเวณซี่ฟันที่หลอ ใช้กรรไกรตัดแต่งให้คล้ายกับรูปทรงฟัน และนำไปแช่น้ำ ไม่นานนักเจลใสก็เริ่มแข็งตัวแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น คล้ายกับฟันแท้เลยทีเดียว

ซ่อมฟันด้วยเจล

นอกจากนี้บุคคลในคลิปยังทดสอบความแข็งแรงของฟันที่ทำจากเจลใส โดยการนำผักแข็งมากัด เช่น แคร์รอต มะระ รวมถึงใช้ประแจมาทุบบริเวณฟันที่ทำจากเจลใส่ ปรากฏทนทานไม่แพ้ฟันจริง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็น พร้อมขอร้องว่าอย่าทำตาม อาทิ “จบที่รักษาทั้งปาก อย่าหาทำเด้อ”, “กรรไกรคือ 5555555555555555555 ฉีดยาแก้บาดทะยักรอเลยนะ”, “ทำแล้วจบที่ใส่รากเทียมทั้งปากราคาเฉียดล้าน”

“เริ่มจากเหงือกอักเสบก่อน เพราะข้างใต้ clean ไม่ได้ ตามด้วยฟันข้าง ๆ ผุ ไม่นับที่ยิ้มมาแล้วเห็นฟันเป็นสองสีไม่เท่ากันอีก”, “อย่าใช้เลยนะ ตอนรื้อนี่ต้องกรอออก มันเหม็นจนทั้งหมอทั้งผู้ช่วยอยากวิ่งหนีไปนอกห้อง และมากกว่า 90% ของคนไข้ที่ใช้มักโดนถอนฟันด้านข้างแถมไปด้วยหลังรื้อ” เป็นต้น

คอมเมนต์ X

แม้ชาว X จะไม่เห็นด้วยกับการใช้เจลซ่อมฟัน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากได้ แต่จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอใน TikTok พบว่า มีแม่ค้าหลายท่านโพสต์คลิปวิดีโอเจลจำหน่ายซ่อมฟัน โดยมีผู้ใช้งาน TikTok ท่านอื่น ๆ ที่เห็นโพสต์ เข้ามาคอมเมนต์แสดงความสนใจในตัวสินค้าเป็นจำนวนมาก

งานนี้ขอวอนชาวเน็ต โปรดอย่าหาทำ เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ทางที่ดีหากต้องการรักษาโรคทันตกรรม ควรปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า ปัญหาช่องปากจะได้ไม่บานปลายยิ่งกว่าเดิมนั่นเอง

คอมเมนต์ TikTok เจลซ่อมฟัน เจลใสใส่ฟัน

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button