พยากรณ์อากาศ 10 วันล่วงหน้า 20-29 ต.ค. 66 กรมอุตุฯ เผยปลายเดือนอากาศเย็นลง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝน 10 วันล่วงหน้า ผ่านภาพเรดาห์ ตั้งแต่วันที่ 20 – 29 ตุลาคม 2566 มวลอากาศเย็นเริ่มปกคลุม เตือนประชาชนให้ระมัดระวังสุขภาพ
วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา วิเคราะห์ภาพเรดาห์ พร้อมพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า โดยนับทุก ๆ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 – 29 ตุลาคม 2566 อัปเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF)
สภาพอากาศช่วงวันที่ 20 – 23 ตุลาคม 2566
มวลอากาศเย็น กำลังปานกลาง (ความกดอากาศสูง) จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลมหนาวเริ่มพัดปกคลุม อากาศเริ่มเย็นลงในตอนเช้า ฝนมีบ้างเล็กน้อยบริเวณประเทศไทยตอนบน เกิดขึ้นได้ในระยะแรก ๆ ที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมา
บริเวณภาคเหนือด้านตะวันตก กลางตอนล่าง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล ช่วงวันหยุดยาวเดินทางท่องเที่ยว มีโอกาสได้สัมผัสทะเลหมอก ตามยอดภู ยอดดอย บริเวณทางตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสาน ขอให้ระมัดระวังการเดินทางสัญจรและรักษาสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
ภาคใต้และในอ่าวไทย มีฝนและตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้และอ่าวไทยยังคงมีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไวด้วย
พายุโซนร้อน “ซันปา (SANBA)” กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ ขึ้นฝั่งที่ประเทศจีนตอนใต้แถบมณฑลกวางสี และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่เตือนผู้ที่จะเดินทางไปประเทศจีนตอนใต้ ต้องตรวจสอบสภาพก่อนออกเดินทางในระยะนี้
สภาพอากาศช่วงวันที่ 24 – 29 ตุลาคม 2566
มวลอากาศเย็นยังแผ่ลงมาปกคลุมภาคอีสาน มีกำลังอ่อนลงบ้าง ทำให้มีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ (ในระดับกลาง ๆ ของชั้นบรรยากาศชั้นล่าง) พัดแทรกเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ความชื้นสูง ทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก มีฝนเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง
ยังต้องระมัดระวังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในระยะนี้ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดู ทิศทางลมมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีลมแรงบางวัน และมีฝนปนกับอากาศเย็น ระมัดระวังสุขภาพช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ภาคใต้ยังมีฝนได้ต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 – 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย
อ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา