ผู้เชี่ยวชาญตอบ “อุณหภูมิ” ส่งผลต่อการเรียนจริง เป็นตัวแปรสำคัญวัดการศึกษา
หลังจากมีมติของสภา กทม. ชี้ขาดตัดงบประมาณ ‘ห้องเรียนติดแอร์’ ข้อถกเถียงไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวจึงเกิดขึ้น แต่ล่าสุดทางผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาตอบแล้ว โดยเผยว่า “อุณหภูมิสัมพันธ์กับความสำเร็จทางการศึกษา” พร้อมยืนยันด้วยผลวิจัย
ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ชี้แจงถึงอุณหภูมิกับความสำเร็จทางการศึกษาโดยอ้างอิงจากผลวิจัย เผยว่า แท้จริงแล้ว อุณหูมิเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อผลการศึกษาของเด็กนักเรียน จากการเปรียบเทียบผลการศึกษาของนักเรียนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่อุณหภูมิสูงกับนักเรียนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นความแตกต่างของนักเรียนในแต่ละภูมิประเทศ
ภายหลังที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบตัดงบประมาณ “โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต” ออกจากข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2567 รวมงบประมาณ 219,339,000 บาท โดยชี้ว่า โครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการปรับปรุง อีกทั้งอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธี พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น
ต่อมาจึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงจากผู้ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจตัดงบประมาณในส่วนนี้ของ สภา กทม. ทางด้านเหล่าผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกับการถูกตัดงบในครั้งนี้ก็เช่นกัน
ล่าสุด (วันที่ 7 กันยายน 2566) ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า Nattavudh Powdthavee – ณัฐวุฒิ เผ่าทวี โดยการอธิบายถึงความสัมพันธ์กันระหว่างอุณภูมิและความสำเร็จทางการศึกษา ที่เป็นไปได้ว่าสองสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกัน
ซึ่งได้อ้างอิงผลการศึกษาที่ปรากฏในงานวิจัยของ Heather Randell และ Clark Gray ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the National Academy of Science ที่ระบุไว้ว่า
อุณภูมิและความสำเร็จทางการศึกษา
คุณคิดว่าอุณภูมิมีผลต่อการศึกษาของเด็กไหมครับ ในงานวิจัยของ Heather Randell และ Clark Gray ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the National Academy of Science (PNAS) พวกเขาทั้งสองได้ทำการเชื่อมข้อมูลอุณภูมิและอัตราฝนตกตั้งแต่ที่เด็กยังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ และตอนที่เด็กมีอายุได้ไม่กี่ปีกับข้อมูลผลการศึกษาของเด็กในวัย 12-15 ปี พวกเขาพบว่าในประเทศในเอเชียอาคเนย์นั้น
เด็กที่โตในที่ที่มีอุณภูมิที่สูงกว่าปกติส่วนใหญ่มักจะโตขึ้นไปมีการศึกษาที่ต่ำกว่าเด็กที่โตในที่ที่มีอุณภูมิปกติ — เด็กที่โตในสถานที่ที่มีอุณภูมิ 2 standard deviation สูงกว่าปกติจะอยู่ในระบบการศึกษาน้อยกว่าประมาณ 1.5 ปีด้วยกัน (ดูได้จากกราฟข้างล่างนะครับ ยิ่งอุณภูมิสูงเท่าไหร่ จำนวนปีที่เด็กจะอยู่ในระบบการศึกษาก็จะน้อยลงตาม ๆ กันไปเท่านั้น)
เพื่อน ๆ หลายคนพอได้อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะคิดว่า แต่นั่นมันไม่ใช่ผลกระทบของอุณภูมิในห้องเรียนต่อการเรียนของเด็กนี่นา มันเป็นผลกระทบระยะยาวของ early-life อุณภูมิต่อผลการเรียนมากกว่า
ถูกต้องครับ แต่ในงานวิจัยที่ถูกนำโดย Jisung Park นักเศรษฐศาสตร์ (ไม่ใช่นักบอล) จากมหาวิทยาลัย UPenn ได้ใช้ข้อมูลของนักเรียนถึง 10 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามาวิเคราะห์และพบว่า ถ้าวันสอบ PSATs เป็นวันที่มีอากาศร้อนมาก ๆ ผลการสอบของเด็กจะออกมาไม่ค่อยดี — พวกเขาพบว่า ในห้องสอบที่ไม่ติดแอร์ การเพิ่มขึ้นของอุณภูมิ 1°F (หรือประมาณ 0.55°C) จะมีผลกระทบทางด้านลบต่อการเรียนของเด็กประมาณ 1% และเขายังพบอีกว่าการเรียนในห้องที่มีอุณภูมิสูงนั้นสามารถอธิบายช่องว่างระหว่างเด็กผิวขาวและเด็กผิวสี (racial gap) ในผลของการศึกษาได้ถึง 5% ด้วยกัน
สรุปคืออะไร สรุปคืออุณภูมิเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนเช่นบ้านเรา และถ้าการศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญของการต่อสู้กับความจน การที่เด็กรวยที่มีโอกาสได้รับการเรียนในห้องที่ติดแอร์ และเด็กจนที่ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนในห้องที่ติดแอร์อีกต่อไป จะยิ่งส่งผลทำให้ educational gap และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของพวกเขาในอนาคตมันยิ่งกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เราอาจจะไม่คาดการณ์มาก่อนก็ได้นะครับ”
ถึงแม้จะมีผลวิจัยยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างอุณหภูมิกับความสำเร็จทางการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ ที่ประชุมสภา กทม. ก็ได้มีมติในการตัดงบประมาณ “โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต” ออกไปแล้ว