ชำแหละ นโยบายเศรษฐกิจ ‘พรรคเพื่อไทย’ วิเคราะห์นโยบายไหน ทำได้ทันที
เปิดนโยบายเศรษฐกิจจากพรรคเพื่อไทย ขับเคลื่อนประเทศลดความเหลื่อมล้ำ หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายไหนลงมือทำได้ทันทีบ้าง
ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับการประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง สส. และ สว. มีมติ 482 ต่อ 165 ทำให้ได้ครองเก้าอี้นายกไปในที่สุด
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยมักจะชูนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของประเทศชาติ ในการที่จะให้ประชาชนสามารถหลีกหนีจากความยากจน และมีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีรายได้ต่อเดือนใช้จ่ายอย่างเพียงพอ
เปิดนโยบายเศรษฐกิจ “พรรคเพื่อไทย” ทำได้ทันทีมีออะไรบ้าง
วันนี้ทีมงาน เดอะไทยเกอร์ ถือถือโอกาสดี พาทุกคนไปส่องนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่ทางพรรคชูเป็นนโยบายเด่นว่าจะสามารถทำได้ทันที หรือทำได้ภายในปี พ.ศ. 2570 จะมีนโยบายอะไรที่น่าสนใจบางนั้น ไปติดตามอ่านพร้อมกันได้เลย
1. ลดค่าสาธารณูปโภค
อีกหนึ่งนโยบายเศรษฐกิจ สำหรับการช่วยลดค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าแก๊ส ทางด้านพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ว่าเป็นนโยบายที่สามารถทำได้ทันทีหากได้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยการปรับลดค่าสาธารณูปโภคนั้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการเจรจาเรื่องพื้นที่ทัซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการส่งเสริมพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
2. เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า
สำหรับนโยบายเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า พร้อมพักหนี้เกษตรอีก 3 ปี โดยการเพิ่มรายได้นั้นจะเพิ่มจากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยกล่าวว่านโยบายดังกล่าวจะเร่งให้บรรลุผลภายในปี พ.ศ. 2570
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มราคาผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปาก หลีกหนีจากความยากจนได้ โดยจะมีระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าทางการเกษตรอยู่ในมาตรฐานที่ดี พร้อมนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มผลทางการเกษตรอีกด้วย
3. สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง
นโยบายสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ ในทักษะ ด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ และกีฬา เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาท/ปี
4. ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน
พรรคเพื่อไทยมีนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน โดยตั้งเป้าให้บรรลุผลภายในปี พ.ศ. 2570 โดยการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation)
นอกจากนี้ยังมีการดันเพดานเงินเดือนสำหรับคนจบปริญญาตรีขึ้นไป ไม่ว่าจะทำงานหน่วยงานเอกชนหรือภาครัฐ โดยปรับเพดานสูงขึ้นเป็นรับเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท/เดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 อีกเช่นเดียวกัน
5. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
พรรคเพื่อไทยดันนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการปรับราครถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะทำให้ค่าโดยสารถูกลงจนคนทั่วไปสามารถขึ้นได้ ลดค่าแรกเข้าเนื่องจากสัญญาสัมปทาน กำหนดเพดานราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของประชาชน
เมื่อมีคนใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ประชาชนสามารถย้ายไปอยู่นอกเมืองและเข้ามาทำงานในเมืองตอนเช้าได้รวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจกระจายไปตามสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง กระจายความเจริญและเกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพอย่างก้าวกระโดด
6. เงินดิจิทัล 10,000 บาท
นโยบายเด่นที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะทำทันทีคือการเติมเงินกระเป๋าดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท ให้ประชาชนใช้จ่ายในชุมชนไม่เกินรัศมี 4 กิโลเมตร โดยจะเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มโครงการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567
ทั้งนี้กระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือน สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะ ยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ รวมถึงไม่สามารถนำมาจ่ายหนี้สินได้ด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน
จากนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทางพรรคเพื่อไทยที่ยกมาให้เห็นในเบื้องต้นนั้น พบว่านโยบายลดค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าแก๊ส คือนโยบายที่สามารถทำได้ทันที่จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
ส่วนนโยบายอื่น ๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการหารือและวางแผน ไม่สามารถทำได้ทันที แต่จำบรรลุผลภายในปี พ.ศ. 2570 อย่างแน่นอน ยกเว้นนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะเิร่มโครงการภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567
ก็คงต้องรอติดตามดูกันต่อไปว่าทุก ๆ นโยบายที่ทางพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในตอนแรก จะสามารถทำได้สำเร็จจริงหรือไม่ หรือมีการปรับเปลี่ยนอะไรในภายหลัง แต่ไม่ว่าจะสำเร็จทุกนโยบายหรือไม่ ตอนนี้ประชาชนทุกคนต่างก็คาดหวังในการทำหน้าที่รัฐบาลอย่างเต็มตัวของพรรคเพื่อไทยไปเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : พรรคเพื่อไทย